ปัญหา VIPD เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ [AT024]

ปัญหา VIPD เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ [AT024]

ความบกพร่องของการประมวลผลสิ่งที่เห็น  Visual Information Processing Disorder (VIPD) อาจทำให้เด็กมีการพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆได้ไม่เต็มที่

 

https://steemit.com/steemiteducation/@tanyaschutte/learning-disabilities-visual-processing-disorder

 

บุตรหลานหรือคนที่ท่านรู้จักมีปัญหาเหล่านี้หรือไม่?
  • น้องเคจำคำศัพท์ได้น้อยและช้า
  • สมศรีมีปัญหากับการอ่านแผนที่
  • น้องแมกซ์มีลายมืออ่านยาก
  • น้องเออ่านหนังสือได้ช้า
  • สมปองมีความลำบากในการอ่านกราฟ
  • ปราณีคิดสิ่งที่ซับซ้อนไม่ได้
  • นายดำมีความลำบากในการเดินในบ้านตัวเองในที่มึด
  • นายจันทร์มีความจำสั้น
  • สมหมายขับรถชนบ่อยเนื่องจากกะระยะไม่ค่อยถูก
  • มานะหาของที่ต้องการไม่ค่อยเจอ
  • น้องอรสับสนด้านซ้ายและขวา
  • น้องแพนด้าจดงานตามอาจารย์ไม่ค่อยทัน
  • น้องเคคิดช้าไม่ค่อยทันเพื่อน
  • น้องนัททำคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ได้ต่ำ
  • น้องอาร์มขาดทักษะทางด้านกีฬา ฯลฯ

ถ้าท่านตอบว่า “ใช่” มีความเป็นไปได้ที่พวกเขาอาจมี “ความบกพร่องของการประมวลผลข้อมูลจากการมองเห็น (Visual Information Processing Disorder, VIPD)” ซึ่งความบกพร่องเหล่านี้ สามารถแก้ไขได้ถ้าได้รับการตรวจวินิจฉัยและแก้ไขอย่างถูกต้อง มีคนมากมายที่ประสบกับปัญหาดังกล่าวโดยไม่ทราบมาก่อนว่ามีวิธีแก้ไขหรือฝึกฝนทำให้ความสามารถดังกล่าวดีขึ้นได้

อนึ่ง ปัญหา VIPD เป็นปัญหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาสายตา ดังนั้น ผู้ที่มีสายตาปกติ ก็อาจมีปัญหา VIPD ได้ หรือผู้ที่มีปัญหาสายตา สั้น ยาว หรือเอียง ก็อาจจะไม่มีปัญหา VIPD ก็ได้ อีกข้อที่สำคัญคือ การที่เด็กมีปัญหา VIPD ไม่ได้หมายความว่าเด็กมีสติปัญญาต่ำแต่อย่างใด ในทางตรงข้าม เด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้จำนวนไม่น้อยมีสติปัญญาในเกณฑ์มาตรฐานและบางคนเหนือกว่ามาตรฐานเสียด้วยซ้ำ

VIPD จัดเป็นปัญหาหนึ่งในกลุ่มของ ปัญหาความบกพร่องในการเรียนรู้ (Learning Disabilities) โดยความบกพร่องในการเรียนรู้ เป็นชื่อเรียกโดยรวมของความผิดปกติที่ส่งผลต่อการเรียนรู้และทักษะด้านต่างๆ เช่น ด้านการพูด การฟัง การอ่าน การเขียน  การสะกดคำ ความเป็นเหตุเป็นผล และการจัดการข้อมูล ฯลฯ

อนึ่ง ความบกพร่องในการเรียนรู้ เป็นคำที่กว้างมาก และการที่เด็กมีความบกพร่องในการเรียนรู้ ไม่ได้หมายความว่าเด็กมีสติปัญญาต่ำแต่อย่างใด ในทางตรงข้าม เด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ จำนวนไม่น้อยมีสติปัญญาในเกณฑ์มาตรฐานและบางคนเหนือกว่ามาตรฐานด้วยซ้ำ ตัวอย่างชนิดของความบกพร่องในการเรียนรู้ เช่น Visual Information Processing Disorders (VIPD), Auditory Information Processing Disorders (ความบกพร่องการประมวลผลข้อมูลจากการฟัง),  Dyslexia (ความบกพร่องทางการอ่าน), Aphasia(ความบกพร่องทางการพูดและภาษา), Dysgraphia (ความบกพร่องทางการเขียน), Dyscalculia(ความบกพร่องทางการคำนวณ), Dyspraxia (ความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว) ฯลฯ

ความบกพร่องในการเรียนรู้ เป็นเรื่องที่ใหญ่และใหม่สำหรับประเทศไทย โดยประมาณการมีเด็กที่มีปัญหาความบกพร่องในการเรียนรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงพอสมควร (ในอดีตเด็กกลุ่มนี้มักถูกมองว่าเป็นเด็กซน ไม่ตั้งใจเรียน ไม่มีสมาธิ เรียนไม่เก่ง ฯลฯ) อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้วพบว่า สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นต้นเหตุของความบกพร่องในการเรียนรู้ คือ Visual Information Processing Disorders (VIP Disorders) เนื่องจากการเรียนรู้ของคนกว่า 80% มาจากการมองเห็น ดังนั้น VIP Disorders จึงเป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจอย่างมากในต่างประเทศ

https://www.optometrists.org/vision-therapy/guide-vision-and-learning-difficulties/guide-to-visual-information-processing/signs-of-visual-processing-information-dysfunction/what-is-visual-information-processing/

 

Visual Information Processing (VIP) คือ กลุ่มของทักษะ (ที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ภาพ) ที่ใช้สำหรับนำข้อมูลภาพที่ได้รับรู้มาทำการผสมผสานกับการรับรู้ด้านอื่นและการทำงานของสมองขั้นสูง โดยสามารถอธิบายให้เข้าใจง่ายคือ การเห็นของมนุษย์ คือการรับรู้ภาพ (Visual sensation) โดยหลังจากการรับรู้ภาพแล้ว สมองของเรามีการนำภาพที่รับรู้ไปเป็นข้อมูลเพื่อทำงานต่ออีกหลายขั้นตอน (Processing)

ยกตัวอย่างเช่น การอ่าน เมื่อเราเห็นตัวหนังสือแล้ว สมองของเรายังต้องแปลผลจากการเห็นเทียบกับความทรงจำด้านคำศัพท์ที่อยู่ในสมอง ว่าศัพท์แต่ละคำมีความหมายว่าอย่างไร และเมื่อมารวมกันเป็นประโยคแล้ว มีความหมายอย่างไร ทำให้เราเกิดความเข้าใจในตัวอักษรที่เห็น  หรือการเขียนหนังสือลงบนกระดาษ ขั้นตอนการทำงานของสมองคือต้องแปลความคิดหรือสิ่งที่ต้องการเขียนเป็นคำพูด และแปลจากคำพูดเป็นตัวอักษรแต่ละตัว (คือรูปภาพของตัวอักษร) ก่อนที่จะสั่งการให้มือเขียนตัวอักษรอย่างที่ต้องการลงในกระดาษโดยควบคุมกล้ามเนื้อนิ้วมือ เพื่อให้ลากเส้นดินสอไปในทิศทางที่เราต้องการ เกิดเป็นตัวหนังสือต่างๆ เป็นต้น

โดยทักษะทาง VIP มีแบ่งแยกย่อยได้มากมาย ซึ่งถ้ามีทักษะใดทักษะหนึ่งบกพร่องหรือผิดปกติ ก็จะทำให้การทำงานที่ต้องอาศัยทักษะนั้นๆเป็นไปได้อย่างไม่ดีเท่าที่ควร อนึ่ง ทักษะต่างๆที่บกพร่องสามารถทำการฝึกฝนให้ดีขึ้นได้ ดังนั้น ถ้าเราสามารถระบุได้ว่าทักษะใดของเด็กบกพร่องไป และทำการพัฒนาทักษะที่บกพร่องนั้นขึ้นมา จะทำให้เด็กสามารถทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยทักษะนั้นๆได้ดีขึ้นด้วย

การระบุว่าเด็กคนหนึ่งมีความบกพร่องของทักษะต่างๆหรือไม่ สามารถทำได้โดยใช้แบบทดสอบ VIP ซึ่งประกอบด้วยแบบทดสอบย่อยสำหรับทดสอบทักษะต่างๆ  โดยขั้นตอนการทำการทดสอบโดยย่อเป็นดังนี้

1. ก่อนทำการทดสอบ เด็กควรผ่านการทดสอบอื่นๆมาแล้วดังนี้

  • ทดสอบ VA,  วัดสายตา
  • ทดสอบการมองสองตา (Binocular vision, Accommodation, Vergence)
  • คัดกรองปัญหาโรคตาเพื่อส่งต่อไปยังจักษุแพทย์

2. เลือกแบบทดสอบ โดยพิจารณาจากข้อมูลที่ได้จากการซักประวัติ การตรวจตา การสังเกต ฯลฯ

3. ทำการทดสอบแต่ละแบบทดสอบ

  • แต่ละแบบทดสอบ อาจมีหลายแบบทดสอบย่อย (ดูรายละเอียดของแต่ละแบบทดสอบในส่วนต่อไป)
  • ทำแต่ละแบบทดสอบย่อยจนครบ ตามขั้นตอนรายละเอียดการทำการทดสอบของแต่ละแบบทดสอบย่อย
  • เมื่อทำการทดสอบครบทุกแบบทดสอบย่อยแล้ว ทำการคิดและรวมคะแนนตามวิธีของแต่ละแบบทดสอบ
  • นำคะแนนที่ได้ มาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน เพื่อดูว่าคะแนนที่เด็กทำได้ อยู่ในช่วงใดเมื่อเทียบกับเด็กที่มีช่วงอายุเดียวกัน

4. ทำการประเมินผลการทดสอบ และวางแผนการรักษาถ้าจำเป็น

แชร์ไปที่ :

บทความอื่นๆ

ติดต่อนัดหมาย