น้องวินนี่ ตาขี้เกียจ สายตาสองข้างสั้นไม่เท่ากัน [AT023]

น้องวินนี่ ตาขี้เกียจ สายตาสองข้างสั้นไม่เท่ากัน [AT023]

น้องวินนี่ ตาขี้เกียจ สายตาสองข้างสั้นไม่เท่ากัน

  • น้องวินนี่ (นามสมมุติ) อายุ 5 ปี มาที่ร้านหมอแว่นกับคุณแม่จากการแนะนำของจักษุแพทย์ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง คุณแม่บอกว่าน้องวินนี่เป็นเด็กร่าเริง เรียนหนังสือได้ดี ดูแล้วปกติทุกอย่าง แต่เมื่อสัปดาห์ก่อนได้เล่นกับลูกและมีการปิดตาข้างหนึ่งคล้ายโจรสลัด เมื่อนำผ้าปิดตาโจรสลัดมาปิดตาขวาของน้องวินนี่แล้ว น้องบอกว่ามองไม่เห็นจึงตกใจ รีบพาลูกไปพบจักษุแพทย์ จักษุแพทย์ตรวจตาดูแล้วพบว่าค่าสายตาสองข้างไม่เท่ากันจึงแนะนำให้มาตัดแว่น

จากการตรวจสายตา พบว่า น้องวินนี่มีค่าสายตาสองข้างต่างกันมากและตาซ้ายเป็นตาขี้เกียจ โดยมีค่าสายตา ดังนี้

  • ตาขวา : -0.50 D (สั้นห้าสิบ) VA@3m.= 20/25-1
  • ตาซ้าย : – 6.50 D (สั้นหกร้อยห้าสิบ) VA@1m.= 20/100

เมื่อให้น้องลองใส่แว่นตาดู ปรากฏว่าน้องสามารถปรับตัวเข้ากับแว่นได้อย่างไม่มีปัญหา แต่จากการปรึกษากับคุณแม่แล้ว ทราบว่าน้องวินนี่เป็นเด็กที่ค่อนข้างขี้อาย เกรงว่าถ้าใส่แว่นหนาแล้วจะถูกเพื่อนๆล้อ ทำให้ไม่อยากใส่แว่นหรือไม่อยากไปโรงเรียนได้ ทางร้านจึงแนะนำทางเลือกอีกทางหนึ่งคือการใส่คอนแทคเลนส์ที่มีค่าอ๊อกซิเจนสูงสำหรับตาซ้าย แต่เนื่องจากน้องวินนี่อายุยังน้อย ไม่สามารถใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์ด้วยตนเองได้ ดังนั้นถ้าจะใส่ คุณแม่ต้องเป็นคนใส่ ถอด และทำความสะอาดให้ ซึ่งหลังจากทางร้านอธิบายถึงข้อควรปฏิบัติของคุณแม่ในการใส่คอนแทคเลนส์ให้น้องแล้ว ทางคุณแม่ได้คุยกับน้องวินนี่และตกลงว่าจะลองใส่คอนแทคเลนส์โดยให้คุณแม่เป็นผู้จัดการให้ หลังจากที่น้องวินนี่ลองใส่คอนแทคเลนส์แล้ว ได้แสดงอาการดีใจอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากไม่ต้องใส่แว่นหนา เมื่อเห็นว่าทั้งทางคุณแม่และน้องวินนี่มีความอยากใส่คอนแทคเลนส์มาก ทางร้านจึงทำการสอนคุณแม่ให้ใส่และถอดคอนแทคเลนส์ให้น้องวินนี่ และย้ำถึงข้อปฏิบัติที่ถูกต้องสำหรับการใส่คอนแทคเลนส์ให้คุณแม่และน้องวินนี่ เมื่อคุณแม่และน้องวินนี่ฝึกฝนการใส่การถอดได้อย่างดีแล้ว จึงให้ทั้งคู่กลับบ้านไป และนัดมาตรวจซ้ำหลังจากใส่คอนแทคเลนส์ไปได้แล้ว 1 วัน, 1 สัปดาห์, 2 สัปดาห์, 1 เดือน และทุกๆ 3 เดือน เพื่อประเมินผลการใส่คอนแทคเลนส์

 

 

สายตาสองข้างต่างกันมาก สังเกตได้ง่ายจากการตรวจด้วย Direct Ophthalmoscope จะเห็นแสงสะท้อนจากรูม่านตาสว่างไม่เท่ากัน

 

 

จากการที่น้องวินนี่มีอาการตาขี้เกียจร่วมด้วย พบว่าหลังจากที่น้องใส่คอนแทคเลนส์ไปได้ 3 เดือน ตาซ้ายของน้องวินนี่ เห็นได้ดีขึ้น โดยมี VA @ 3m = 20/70 และเหมือนจะหยุดอยู่กับที่ ไม่มีการพัฒนาต่อ ทางร้านจึงได้ทำการรักษาเพิ่มโดยการปิดตา (Patching) โดยให้คุณแม่ทำการปิดตาขวา (ด้านดี) ของน้องทุกวัน วันละ 5 ชั่วโมง หลังจากกลับมาจากโรงเรียน และระหว่างปิดตาให้น้องวินนี่ทำงานที่ใช้สายตา เช่น ทำการบ้าน หรือเล่นเกมส์ไปด้วย เพื่อกระตุ้นตาด้านที่เป็นตาขี้เกียจให้ถูกใช้งานมากขึ้น และนัดน้องวินนี่มาตรวจซ้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินผลการรักษาและปรับเปลี่ยนระยะเวลาการปิดตาตามความเหมาะสม

ปัจจุบันน้องวินนี่อายุได้ 8 ขวบแล้ว และตาซ้ายที่เคยเป็นตาขี้เกียจ มีการพัฒนาจนสามารถเห็นได้ดีเทียบเท่าตาขวา และสามารถใส่และถอดคอนแทคเลนส์ได้ด้วยตนเองโดยคุณแม่ไม่ต้องทำให้ น้องวินนี่เป็นเด็กที่ร่าเริง น่ารักสมวัย นับเป็นความโชคดีของน้องวินนี่ที่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะสำหรับผู้ที่เป็นตาขี้เกียจ หากมารักษาเมื่ออายุมาก จะให้ผลการรักษาที่ไม่ดีเท่าที่ควร

อนึ่ง การใช้คอนแทคเลนส์ในเด็กเล็กนั้น ต้องให้ผู้ปกครองเป็นผู้ใส่ ถอดและทำความสะอาดให้ในระหว่างที่เด็กยังไม่สามารถทำด้วยตนเองได้ โดยในต่างประเทศผู้ปกครองที่ได้รับการฝึกฝน สามารถทำการใส่และถอดคอนแทคเลนส์ให้ลูกได้ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 4 เดือน (ในกรณีที่เด็กเป็นต้อกระจกโดยกำเนิดและต้องผ่าต้อกระจกออก) ซึ่งการใส่ครั้งแรกๆอาจมีความลำบากบ้าง แต่เมื่อได้ทำเป็นประจำก็จะเป็นเรื่องง่ายในที่สุด และเป็นสิ่งที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่ได้รับคือการมองเห็นที่ดีไปตลอดชีวิตของลูกน้อย

ตาขี้เกียจ (Lazy eye) คือ ตาที่มีพัฒนาการไม่สมบูรณ์ ทำให้ไม่สามารถเห็นได้ชัดเจนเหมือนปกติ หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา จะทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนไปตลอดชีวิต สาเหตุของตาขี้เกียจ เช่น ตาเหล่ตาเข ต้อกระจกในเด็กแรกเกิด ค่าสายตามาก หนังตาตก สายตาสองข้างต่างกันมาก ฯลฯ

โดยตาขี้เกียจ ยิ่งได้รับการรักษาเร็วเท่าไร ยิ่งได้ผลการรักษาดีเท่านั้น โดยปกติการรักษาจะได้ผลดีที่สุดเมื่อทำตั้งแต่อายุไม่เกิน 6 ปี และการรักษาหลังจากอายุ 20 ปีไปแล้วจะคาดหวังผลได้ค่อนข้างน้อย

การปิดตาด้านดีเป็นการรักษาตาขี้เกียจที่ได้ผลวิธีหนึ่ง เพื่อกระตุ้นตาด้านที่ขี้เกียจให้ได้ใช้งาน โดยการรักษาต้องควบคุมระยะเวลาการปิดตาให้เหมาะสมตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ

แชร์ไปที่ :

บทความอื่นๆ

ติดต่อนัดหมาย