รวมคำถาม การควบคุมสายตาสั้น (FAQ : Myopia Control)
พ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆท่านมักจะมีความกังวลเมื่อลูกสายตาสั้น ต้องเริ่มใส่แว่นตา และยิ่งมีความกังวลเพิ่มขึ้นเมื่อพบว่าลูกสายตาสั้นเพิ่มขึ้นทุกปี เมื่อเปิดเทอมไปได้สักพัก ครูก็จะบอกว่า น้องมองกระดานไม่ชัด ให้พาไปวัดสายตาเพื่อตัดแว่นใหม่ เมื่อไปถึงร้านแว่น ก็ได้แว่นใหม่กลับมาจริงๆ พร้อมกับความหวังว่าปีหน้าสายตาจะไม่สั้นเพิ่มแล้วนะ …… ซึ่งปีก่อน ก็เคยคิดแบบนี้ แต่ปีนี้ก็ยังสายตาเพิ่มอยู่
เมื่อถามร้านแว่นว่ามีวิธีที่จะชลอหรือหยุดสายตาไม่ให้สั้นเพิ่มขึ้นไหม ก็มักจะได้รับคำตอบว่า “ไม่มี”
ความจริงคือ ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถชลอหรือหยุดสายตาไม่ให้สั้นเพิ่มขึ้นได้แล้ว เรียกว่า “การควบคุมสายตาสั้น (Myopia Control)”
โดยหมอเบิร์ดได้รวบรวมคำถามเกี่ยวกับ การควบคุมสายตาสั้น สำหรับผู้ที่สนใจ ตามด้านล่างนะครับ
บุตรหลานสายตาสั้นเพิ่มขึ้นทุกปี ต้องเปลี่ยนแว่นใหม่บ่อยๆ ทำอย่างไรดี?
ตอบ ปัจจุบันมีวิธีการชะลอ หรือหยุดไม่ให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้น เรียกว่า “การควบคุมสายตาสั้น (Myopia Control)” เป็นวิธีทางการแพทย์ที่มีงานวิจัยรองรับ และใช้กันทั่วโลกในปัจจุบัน
ทำไมเมื่อใช้แว่นตา หรือคอนแทคเลนส์แล้ว พบว่า สายตาสั้นเพิ่มขึ้นทุกปี?
ตอบ เพราะว่า การใส่แว่นตา และคอนแทคเลนส์ทั่วไปที่ใช้อยู่ ไม่ได้เป็นการ “ควบคุมสายตาสั้น” เพราะไม่ได้ช่วยชะลอ หรือหยุดไม่ให้สายตาสั้นเพิ่ม โดยเป็นแค่เพียง “การแก้ไขสายตาสั้น” เพื่อให้มองเห็นชัดขึ้นเท่านั้น ดังนั้น เมื่อเด็กใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ตามร้านแว่นทั่วไป สายตาก็มักจะสั้นเพิ่มขึ้นอีกในเวลาต่อมา
สายตาสั้นเพิ่มขึ้น มีผลเสียอะไรบ้าง?
ตอบ สายตาสั้นส่งผลเสียในหลายด้าน เช่น
- ด้านสุขภาพตา สายตาสั้นเพิ่มขึ้นมาก ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคตาต่างๆเพิ่มขึ้น เช่น จอตาฉีกขาดหลุดลอก จอตาเสื่อม ต้อกระจก ต้อหิน วุ้นตาเสื่อม ฯลฯ โดยหลายโรคอาจมีความรุนแรงถึงขั้นทำให้ตาบอดได้
- ด้านความคล่องตัวในชีวิตประจำวัน ยิ่งมีสายตาสั้นมาก ก็ยิ่งมีปัญหาในชีวิตประจำวันมาก เนื่องจากยิ่งสั้นมาก ยิ่งมองเห็นไม่ชัดเมื่อไม่ได้ใส่แว่น ถ้าสายตาสั้นมากๆ เมื่อตื่นขึ้นมาก็ต้องหยิบแว่นมาใส่เป็นอันดับแรก เพราะไม่อย่างนั้นจะทำกิจกรรมอื่นๆลำบากเนื่องจากมองเห็นไม่ชัด
ที่มา : https://applevalleyvision.com/vision-care-products/myopia-control/
- ด้านการประกอบอาชีพในอนาคต สายตายิ่งสั้นมาก ยิ่งมีโอกาสในการประกอบอาชีพต่างๆลดลง โดยหลายๆอาชีพ มีการทดสอบสายตาเมื่อสอบเข้าเรียน และถ้าสายตาสั้นเกินก็จะสอบไม่ผ่าน ตัวอย่างอาชีพ เช่น นักบินสายตาห้ามสั้นเกิน 3.00 ไดออปเตอร์ หรือทหารบก (นักเรียนเตรียมทหาร) ห้ามสายตาสั้นเกิน 1.50 ไดออปเตอร์ เป็นต้น
- ด้านการผ่าตัดแก้ไขในอนาคต สายตาสั้นมาก อาจทำให้ไม่สามารถทำเลสิกได้เนื่องจากกระจกตาจะบางเกินไปหลังทำ ทำให้ไม่ปลอดภัยต่อดวงตา สำหรับผู้มีสายตาสั้นมาก จักษุแพทย์อาจแนะนำการผ่าตัดเพื่อใส่เลนส์เสริมเข้าในตา (Implantable Contact Lens) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงสูงกว่าการทำเลสิก
- ด้านความคล่องตัวในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเล่นฟุตบอล ว่ายน้ำ สเก็ตน้ำแข็ง เทนนิส ร้องเพลง เทควันโด ชกมวย ฯลฯ ซึ่งเด็กในปัจจุบันมีกิจกรรมพัฒนาทักษะมากมายที่พวกเขาอยากทำ แต่การใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ก็เป็นอุปสรรคกับหลายๆกิจกรรมที่พวกเขารัก
- ด้านความสวยงาม สายตาสั้นมาก ทำให้ต้องใส่แว่นที่หนาขึ้น ไม่สวยงาม นอกจากนี้แว่นหนายังทำให้ดวงตาดูเล็กลงอีกด้วย
- ด้านการเงิน สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เพราะต้องเปลี่ยนแว่นหรือคอนแทคเลนส์เมื่อสายตาเปลี่ยน
จะเห็นได้ว่าการที่สายตาสั้นเพิ่ม ส่งผลเสียหลายด้านดังที่กล่าวมา ดังนั้น การควบคุมสายตาสั้นจึงส่งผลดีทั้งต่อสุขภาพตา อาชีพ และโอกาสของเด็กในอนาคตด้วย
สายตา จะหยุดสั้นเพิ่ม เมื่ออายุเท่าไร?
ตอบ ในปัจจุบันเรายังไม่สามารถคาดเดาได้ว่า สายตาของเด็กจะหยุดสั้นเพิ่มเมื่ออายุเท่าไร แต่จากสถิติพบว่า
- เด็กส่วนใหญ่มักเริ่มสายตาสั้น เมื่ออายุ 6-7 ขวบ และสายตาหยุดสั้นเมื่ออายุเกิน 20 ปี ไปแล้ว
- เด็กที่สายตาสั้นตั้งแต่เกิด หรือสายตาเริ่มสั้นเมื่ออายุยังน้อย มีโอกาสเกิดสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเร็วและรุนแรง มักทำให้สายตาสั้นหลายร้อยหรือเป็นพันเมื่อโตขึ้น
- เด็กที่สายตาสั้นมาก มีแนวโน้มที่สายตาจะหยุดสั้นช้า เช่น สายตาสั้นสองร้อยอาจหยุดสั้นเมื่ออายุ 18 ปี แต่ถ้าสายตาสั้นหกร้อยอาจหยุดสั้นที่อายุ 25 ปี หรือมากกว่านั้น เป็นต้น
- เด็กในปัจจุบัน มีแนวโน้มสายตาสั้นมากกว่าเด็กในยุคก่อนหลายเท่าตัว เนื่องจากสภาพแวดล้อมต่างๆที่เปลี่ยนไป
ดังนั้น เราจึงควร “ควบคุมสายตาสั้น” ตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อทำให้สายตาสั้นน้อยที่สุดเมื่อพวกเขาโตขึ้น
คนส่วนใหญ่ที่สายตาสั้นมากๆ พวกเขาสายตาสั้นมากตั้งแต่เกิดหรือไม่?
ตอบ ผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้นมากแทบทุกคนไม่ได้มีสายตาสั้นมากมาตั้งแต่เกิด โดยส่วนใหญ่จะเริ่มจากสายตาสั้นเพียงเล็กน้อยในวัยเด็กและสั้นเพิ่มขึ้นทุกๆปีทำให้มีสายตาสั้นมากเมื่อโตขึ้น ตัวอย่างเช่น
นายเอ (นามสมมุติ) ปัจจุบันอายุ 20 ปีสายตาสั้น -12.00 D (สั้นหนึ่งพันสองร้อย) ตอนแรกเกิด ด.ช.เอ สายตาสั้นเพียง -2.00 D (สั้นสองร้อย) แสดงว่าในระยะเวลา 20 ปี สายตาของ ด.ช.เอ สั้นเพิ่มขึ้น -10.00 D หรือเฉลี่ยปีละ -0.50 D จะเห็นว่านายเอไม่ได้มีสายตาสั้นมากมาตั้งแต่เกิด แต่สายตาสั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปีสะสมมากขึ้นจนกระทั่งสายตาสั้นมากในตอนโต ดังนั้น ถ้ามีวิธีทำให้ ด.ช.เอ สายตาไม่สั้นเพิ่มขึ้นเลย ก็จะทำให้นายเอมีสายตาสั้นเพียง -2.00 D เท่านั้นเมื่อโตขึ้น หรือถ้ามีวิธีที่ชะลอสายตาของ ด.ช.เอให้สั้นช้าลงครึ่งหนึ่งคือ 0.25 D ต่อปี จะทำให้เมื่อ ด.ช.เอ อายุ 20 ปีจะมีสายตาเพียง -7.00 D (สั้นเจ็ดร้อย) ซึ่งน้อยกว่า -12.00 D อยู่มากพอสมควร
โดยเมื่อถามคนที่สายตามากๆหลายๆร้อยหรือเป็นพัน พวกเขาจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ พวกเขาจะเลือกวิธีการ “ควบคุมสายตาสั้น” อย่างแน่นอน
สายตาสั้นเพิ่มเท่าไร ถึงถือว่าเพิ่มขึ้นเร็ว?
ตอบ ทางการแพทย์ ถ้าสายตาสั้นเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีละ 0.50 ไดออปเตอร์ (สั้นห้าสิบ) ขึ้นไป จะถึอว่าสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเร็ว
การควบคุมสายตาสั้น มีวิธีอะไรบ้าง?
ตอบ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนักวิจัยพยายามคิดค้นวิธีต่างๆที่จะช่วยหยุดหรือชะลอสายตาไม่ให้สั้นเพิ่มขึ้น ณ ปัจจุบัน (พฤศจิกายน 2017) ยังไม่มีวิธีใดๆที่สามารถควบคุมสายตาสั้นที่ได้ผล 100% แต่คาดว่าอีกภายใน 10 ปีข้างหน้าจะสามารถคิดค้นยาที่หยุดสายตาไม่ให้สั้นเพิ่มขึ้นได้
วิธีควบคุมสายตาสั้น ในปัจจุบันมีอยู่หลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีก็ได้ผลแตกต่างกันไป การเลือกว่าจะใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล วิธีการควบคุมสายตาสั้นที่นิยมคือ
1. โอเคเลนส์ OK lens (เลนส์จัดสายตา , Ortho-K Lens, Orthokeratology) คอนแทคเลนส์ดังกล่าวสามารถแก้ไขสายตาทำให้เด็กไม่ต้องใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ในขณะตื่น นอกจากนั้นยังมีผลพลอยได้ที่สำคัญเนื่องจากในงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าการใช้คอนแทคเลนส์ดังกล่าวต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานยังช่วยควบคุมสายตาสั้นไม่ให้เพิ่มขึ้นได้ด้วย โดยการปรับโฟกัสของแสงที่ตกที่จอตาบริเวณริมให้โฟกัสก่อนจอตา (Peripheral Myopic Defocus) นับเป็นวิธีที่ได้ผลดีในการควบคุมสายตาสั้น การใช้คอนแทคเลนส์นี้ถ้าเด็กยังอายุน้อย ผู้ปกครองต้องเป็นผู้ช่วยในการใส่และถอดเลนส์ในช่วงแรก อนึ่ง การใช้โอเคเลนส์เป็นการควบคุมสายตาสั้นที่ AAOMC แนะนำว่ามีความเหมาะสมและปลอดภัยสำหรับเด็ก แต่ต้องดูแลความสะอาดเลนส์อย่างดีเนื่องจากเลนส์ที่สกปรกอาจทำให้ตาอักเสบติดเชื้อได้
คลิปแสดงการใส่โอเคเลนส์ หรือเลนส์จัดสายตา เพื่อปรับความโค้งกระจกตาขณะหลับ
https://www.cassidyeyecare.co.nz/eyecare/myopia-control
จากงานวิจัยพบว่า การใช้โอเคเลนส์ ทำให้เกิดการปรับการโฟกัสของแสงจาก Peripheral Hyperopic Defocus (สีน้ำเงิน) เป็น Peripheral Myopic Defocus (สีแดง) ซึ่งทำให้ควบคุมสายตาสั้นได้
2. คอนแทคเลนส์นิ่มชนิด Multifocal สำหรับการควบคุมสายตาสั้น มีหลักการควบคุมสายตาสั้นคล้ายกับโอเคเลนส์ แต่ต่างกันตรงที่ว่าจะต้องใส่คอนแทคเลนส์ในเวลากลางวัน วิธีนี้ก็เป็นวิธีที่นิยมแต่มีข้อเสียคือไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาตาแห้งหรือผู้ที่มีกิจกรรมบางอย่างเช่น เล่นกีฬาที่ต้องมีการกระทบกระแทก ว่ายน้ำ หรือมีกิจกรรมที่เลอะเทอะเปรอะเปื้อน ฯลฯ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ
3. การใช้เลนส์แว่นตาควบคุมสายตาสั้น วิธีนี้คือการใช้เลนส์แว่นตาที่ออกแบบสำหรับการควบคุมสายตาสั้น มีหลายชนิดเช่น เลนส์ชั้นเดียวอ่านหนังสือ เลนส์สองชั้น เลนส์โปรเกรสซีฟ และเลนส์ที่จำลองสภาพ Peripheral Myopic Defocus เป็นต้น นับเป็นวิธีทางเลือกที่ปลอดภัยในเด็กเล็ก แต่ข้อเสียคือได้ผลการควบคุมสายตาสั้นที่ต่ำเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ
4. การหยอดยาลดการเพ่ง วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้ผลดีและนิยมทำในอดีต แต่ปัจจุบันมีความนิยมลดลง เนื่องจากเด็กต้องใช้ยาต่อเนืองเป็นเวลาหลายปี โดยยามีผลข้างเคียงต่อระบบต่างๆในร่างกาย เช่น ระบบความดันและหลอดเลือด ระบบการหายใจ และมีผลต่อความจำของเด็กอีกด้วย หลายงานวิจัยพบว่า เด็กสายตาสั้นขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อหยุดใช้ยา ปัจจุบันมีการลดขนาดของยาลงเป็นความเข้มข้นต่ำ เพื่อลดการเกิดผลข้างเคียงดังที่กล่าวมา
5. การควบคุมอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โดยจากงานวิจัยบางชิ้นระบุว่าเด็กกลุ่มที่รับประทานคาร์โบไฮเดรตมาก อาจมีส่วนทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นทุกปี
แม้วิธีดังที่กล่าวมายังไม่มีวิธีใดที่ได้ผล 100% ในการควบคุมสายตาสั้น อย่างไรก็ดีในต่างประเทศมีผู้ปกครองจำนวนมากเลือกที่จะควบคุมสายตาสั้นให้บุตรหลาน เนื่องจากเห็นว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัย ดีกว่าปล่อยให้สายตาของบุตรหลานสั้นเพิ่มขึ้นทุกปีโดยไม่ทำอะไรเลย
เด็กควรควบคุมสายตาสั้นเมื่ออายุเท่าไร?
ตอบ การควบคุมสายตาสั้นไม่มีเกณฑ์อายุที่แน่นอน โดยสิ่งที่ใช้ในการประกอบการตัดสินใจ เช่น
- ค่าสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเร็ว ถ้าเด็กสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเกินปีละ 0.50 ไดออปเตอร์หรือมากกว่า
- ค่าสายตาปัจจุบันสูง ยิ่งค่าสายตาสูง ยิ่งมีความเสี่ยงต่อโรคตาต่างๆมากขึ้น
- ถ้าเด็กสายตาสั้นตั้งแต่อายุยังน้อย เช่น ลูกหมอเบิร์ด เริ่มควบคุมสายตาสั้นตั้งแต่อายุ 5 ขวบ
- ความพร้อมของเด็กและครอบครัว
อนึ่ง ถ้าบุตรหลานของท่านเข้าข่ายดังกล่าว ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวางแผนการควบคุมสายตาสั้นได้อย่างถูกต้อง
องค์กรระดับโลก ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมสายตาสั้น มีที่ใดบ้าง?
ตอบ องค์กรระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับการควบคุมสายตาสั้น คือ American Academy of Orthokeratology and Myopia Control (AAOMC) (สถาบันจัดสายตา และควบคุมสายตาสั้นแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา)
ในประเทศไทย มีผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมสายตาสั้น หรือไม่ อย่างไร?
ตอบ ปัจจุบัน (ปี 2017) ในประเทศไทย มีผู้เชี่ยวชาญระดับ “เฟลโลว์ (Fellow)” ด้านคุมสายตาสั้นที่ AAOMC ให้ การรับรอง อยู่เพียงท่านเดียวคือ “ดร. วุฒิพงษ์ พึงพิพัฒน์” หรือ “หมอเบิร์ด”
ต้องการควบคุมสายตาสั้นกับ หมอเบิร์ด ไปที่ไหนได้บ้าง?
ตอบ ปัจจุบัน หมอเบิร์ด ออกตรวจอยู่หลายที่ เช่น ศูนย์เลสิกรัตนินกิมเบล และ ศูนย์สายตาหมอแว่น ท่านสามารถติดต่อเพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
- ไลน์แอด @drbirdcl โดยคลิกที่ลิ้งนี้ https://line.me/R/ti/p/%40drbirdcl หรือสแกน QR Code ด้านล่าง
- โทรสอบถามที่เบอร์ 081-734 4552 และ 064-141 9393