FAQ สายตาสั้น [AT070]

FAQ สายตาสั้น [AT070]

สายตาสั้นคืออะไร……???

นิยามของสายตาสั้น (Myopia / Shortsightedness) คือ “ภาวะผิดปกติของการหักเหแสง (Refractive Error) ในลูกตา ทำให้แสงมีการโฟกัสก่อนจอตา (Retina) ในขณะที่ไม่มีการเพ่ง (Accommodation) ของเลนส์ตา”

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ ภาวะที่แสงโฟกัสเร็วเกินไปภายในลูกตา ทำให้เมื่อมองไกล แสงจะไม่โฟกัสพอดีที่จอตา ทำให้เห็นภาพไม่ชัดเจน ผู้สายตาสั้นจะมองไกลไม่ชัดและจะมองใกล้ได้ชัดเจนกว่ามองไกล

 

 

< ภาพเปรียบเทียบทางเดินแสงของสายตาปกติและสายตาสั้น

ที่มา : https://advancedfamilyeyecare.com/myopia/

 

 

 

 

ทำไมคนสายตาสั้นจึงมองไกลไม่ชัดแต่มองใกล้ชัด…….???

เมื่อมองไกล เวอร์เจนซ์ (Vergence) ของแสงจากวัตถุที่ระยะไกลจะขนานกัน เมื่อแสงเข้าสู่ดวงตาของคนสายตาสั้นจะเกิดการหักเหและโฟกัสก่อนถึงจอตา ทำให้มองเห็นไม่ชัดที่ระยะไกล เนื่องจากแสงไม่โฟกัสพอดีที่จอตา เมื่อมองวัตถุที่อยู่ใกล้ เวอร์เจนซ์ของแสงจากวัตถุระยะใกล้จะถ่างออก (Divergence) ทำให้เมื่อแสงผ่านเข้าตาแล้วโฟกัสห่างจากกระจกตามากขึ้น เมื่อค่าไดเวอร์เจนซ์ของแสงเท่ากันกับค่าสายตาสั้น จะทำให้แสงโฟกัสที่จอตาพอดีทำให้เห็นภาพชัด เมื่อวัตถุอยู่ใกล้ตามากขึ้นแสงจากวัตถุจะไดเวอร์เจนซ์มากขึ้น ทำให้แสงโฟกัสเลยจอตาดังรูป 3 ทำให้เห็นภาพไม่ชัด ดังนั้นตาจะทำการเพ่ง (Accommodation) ทำให้เลนส์ตานูนตัวขึ้น และแสงโฟกัสพอดีที่จอตา ทำให้มองเห็นชัด

สายตาสั้นเกิดจากอะไร…….???

สายตาสั้นเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น

  • กระจกตามีกำลังหักเหมากเกินไป
  • เลนส์ตามีกำลังหักเหมากเกินไป
  • กระบอกตายาวเกินไป
  • ค่าดัชนีหักเหในลูกตาสูงเกินไป

โดยทุกปัจจัยล้วนแล้วแต่ทำให้แสงโฟกัสก่อนถึงจอตาทั้งสิ้น อย่างไรก็ดีในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของการเกิดสายตาสั้น แต่ทราบว่าน่าจะเกิดจากหลายปัจจัยรวมกันเช่น

  • พันธุกรรม ลูกที่เกิดจากพ่อแม่สายตาสั้นมาก มีแนวโน้มที่จะมีสายตาสั้นมากกว่าเด็กปกติ
  • เชื้อชาติ ชาวเอเชียเชื้อสายจีน มีแนวโน้มสายตาสั้นมากกว่าชาวยุโรปหรือแอฟริกา
  • การใช้สายตา เด็กที่มีการใช้สายตาระยะใกล้มาก เช่น อ่านหนังสือ เล่นคอมพิวเตอร์ จะมีโอกาสเป็นสายตาสั้นเพิ่มขึ้น โดยงานวิจัยพบว่าเด็กในประเทศที่มีการศึกษามากกว่า (มีการใช้สายตาระยะใกล้มากจากการเรียน การอ่านหนังสือ การเล่นคอมพิวเตอร์หรือเล่นเกมส์) มีแนวโน้มสายตาสั้นมากกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษา (มีการใช้สายตาระยะใกล้น้อย)
  • การใช้ชีวิตกลางแจ้ง มีงานวิจัยระบุว่าเด็กที่อยู่ในชนบทที่มีกิจกรรมกลางแจ้งมากกว่า มีแนวโน้มสายตาสั้นน้อยกว่าเด็กที่อยู่ในเมืองที่มักใช้ชีวิตอยู่ในที่ร่ม
  • การบริโภคคาร์โบไฮเดรต มีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่าการกินแป้งและขนมปังมากเกิน อาจมีส่วนต่อการสายตาสั้นได้เนื่องจากสภาวะ Hyperinsulinemia
  • ปัจจัยอื่นๆเช่น ความเครียด การมีสายตาเอียงแบบ With-the-rule ฯลฯ

จะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองสายตาสั้น ถ้าไม่ได้วัดสายตา….???

อาจสังเกตได้จากความคมชัดของการมองเห็น โดยเทียบระหว่างการมองระยะไกลและระยะใกล้ ถ้ามองไกลได้ไม่ชัดเจนแต่มองใกล้ได้ชัดเจนกว่า แสดงว่าน่าจะเป็นสายตาสั้น (อาจทำการทดสอบสายตาสั้นได้จาก “ทดสอบสายตาด้วยตนเอง”)

สายตาสั้นถ้าเป็นอยู่แล้วจะเป็นมากขึ้นหรือไม่……???

คนทั่วไปโดยปกติ สายตามีแนวโน้มจะสั้นเพิ่มขึ้นตั้งแต่อายุประมาณ 6 ปี สายตาสั้นอาจมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่มีการเจริญเติบโตทางร่างกายเร็วและมักจะคงที่หรือมีการเปลี่ยนแปลงช้าหลังจากอายุเกิน 20 ปีไปแล้ว

อย่างไรก็ดี ในบางกรณีสายตาสั้นอาจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้อายุจะเกิน 20 ปีไปแล้ว เรียกสายตาสั้นชนิดนี้ว่า Pathological Myopia โดยคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีสายตาสั้นค่อนข้างมาก (เกิน -6.00 ไดออปเตอร์) ซึ่งในบางคนอาจมีปัญหาต่างๆตามมาได้ (อ่านต่อใน ข้อควรรู้สำหรับผู้ที่มีสายตาสั้นมากเกิน -6.00 ไดออปเตอร์)

ตอนเด็กๆสายตาสั้น เมื่ออายุมากขึ้นเป็นสายตายาว จะทำให้หายสายตาสั้นได้หรือไม่……???

เมื่ออายุมากขึ้นจะทำให้สายตายาวขึ้น  โดยสายตายาวที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

  • สายตายาว (Hyperopia) สายตายาวประเภทนี้จะหักล้างกับสายตาสั้นได้ ดังนั้น ถ้าใครสายตาสั้นอยู่เมื่อตอนเด็ก แล้วเมื่ออายุมากขึ้นมีการเพิ่มขึ้นของสายตายาว จะทำให้ตาที่เคยสั้นอยู่สั้นน้อยลงได้ (เช่น เคยสั้น -2.00 ไดออปเตอร์ เหลือ -1.00 ไดออปเตอร์) คนส่วนใหญ่มีสายตายาวเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมาก แต่ไม่เป็นกับทุกคน
  • สายตายาวสูงอายุ (Presbyopia) สายตายาวสูงอายุนี้จะไม่หักล้างกับสายตาสั้น เนื่องจากสาเหตุการเกิดสายตายาวชนิดนี้ไม่ได้เกิดจากระบบการหักเหแสงของดวงตา แต่เกิดจากความสามารถในการเพ่งที่ลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงไม่สามารถหักล้างกับสายตาสั้นได้ สายตายาวสูงอายุนี้เมื่ออายุมากประมาณ 40 ปีขึ้นไปจะต้องเป็นกันทุกคน เนื่องจากเป็นความเสื่อมของร่างกายมนุษย์อย่างหนึ่งคล้ายกับผิวหนังที่เหี่ยวย่นลง ผมที่สีจางและบางลง เป็นต้น

สายตาสั้น มีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง นอกจากการใส่แว่นตา……???

อาจแบ่งการแก้ไขสายตาสั้นออกเป็น 2 วิธีหลักๆ คือ

  1. Noninvasive method (วิธีที่ไม่ต้องผ่าตัด)
  • แว่นตา ในปัจจุบันมีเลนส์แว่นตาแก้สายตาสั้นให้เลือกหลากหลายแบบทั้งเลนส์ธรรมดา เลนส์แอสเฟียริก (Aspherical lens) เลนส์ไฮอินเด็ก (High index) สำหรับคนสายตาสั้นมาก หรือเลนส์กันกระแทกสำหรับเด็ก (Safety lens) และมีทั้งแบบเคลือบกันรังสียูวี กันแสงสะท้อน (Anti Reflection) เลนส์เปลี่ยนสี ฯลฯ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านเลนส์ เพื่อเลือกเลนส์ให้เหมาะกับการใช้งานของท่านที่สุด
  • คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม (Soft Contact Lens) สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการใส่แว่นตา ผู้ที่มีสายตาสองข้างต่างกันมาก ผู้ที่มีสายตาสูง ฯลฯ
  • คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง (Rigid Gaspermeable Contact Lens, RGP) สำหรับผู้ที่มีตาแห้งมาก ไม่สามารถใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มได้ หรือผู้ที่มีกระจกตาบิดเบี้ยว
  • คอนแทคเลนส์ใส่นอนปรับกระจกตา (Orthokeratology Contact Lens) ใส่ตอนนอนและถอดตอนตื่นขึ้นมา ทำให้ไม่ต้องใส่คอนแทคเลนส์ในเวลากลางวัน สำหรับผู้ที่ตาแห้งมาก หรือผู้ที่มีกิจกรรมที่ไม่สะดวกในการใส่แว่นตาและคอนแทคเลนส์เช่นนักกีฬาบางประเภท แอร์โฮสเตส นักดับเพลิง ตำรวจ นักเรียนเตรียมทหาร นักเรียนนายร้อย เป็นต้น

2. Invasive (วิธีการผ่าตัด) นิยมใช้เมื่อมีค่าสายตามากๆ ถ้าสายตาสั้นเพียงเล็กน้อยจะไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากโดยปกติสายตามนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น

  • LASIK (Laser-assisted in situ keratomileusis) การผ่าตัดกระจกตาโดยใช้แสงเลเซอร์อย่างหนึ่ง มีการเปิดผิวกระจกตาด้านหน้าออก (Flap) เพื่อยิงเลเซอร์แก้ไขกระจกตาในชั้น Stroma เมื่อผ่าเสร็จแล้วจะมีการปิด Flap เข้าที่เดิมทำให้สามารถมองเห็นได้ดีขึ้นในทันทีหลังการรักษา แผลหายเร็วกว่าการทำ PRK
  • PRK (Photorefractive Keratectomy) เป็นการผ่าตัดกระจกตาโดยใช้แสงเลเซอร์อย่างหนึ่ง โดยมีการยิงเลเซอร์โดยตรงที่ผิวกระจกตาโดยไม่มีการเปิด Flap เหมือนการทำ LASIK หลังจากการทำแล้วจึงต้องใช้คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษที่มีออกซิเจนผ่านสูง (Bandage Contact lens) ปิดกระจกตาไว้ เนื่องจากไม่มี Flap แผลหายช้ากว่า LASIK แต่ผลลัพธ์ที่สามเดือนไม่มีความแตกต่างกัน เหมาะกับคนที่มีสายตาสั้นสูงกว่า หรือคนที่ไม่ต้องการมีปัญหาเรื่อง Flap ที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากการทำ LASIK
  • Intacs (Intrastromal corneal ring segments) การฝังห่วงพลาสติกเล็กๆที่กระจกตาชั้น Stroma เพื่อทำให้กระจกตาแบนลง สามารถนำออกหรือเปลี่ยนขนาดได้
  • ผ่าตัดฝังเลนส์เทียม มักใช้เมื่อค่าสายตามากเกินกว่าที่ LASIK หรือ PRK จะสามารถแก้ไขได้ ทำโดยการฝังเลนส์เทียมเข้าไปเพิ่มเติม เลนส์เทียมมีทั้งชนิดที่ใช้ทดแทนเลนส์เดิม (สำหรับคนที่ต้องการผ่าต้อกระจกอยู่แล้ว) และเลนส์ที่ฝังเข้าไปเพิ่มโดยไม่มีการนำเลนส์เดิมออก (สำหรับผู้ที่ต้องการรักษาสายตาสั้นที่ไม่เป็นต้อกระจก)

ลูกเล่นเกมส์มากๆหรืออ่านหนังสือนานๆ ทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นหรือไม่…….???

งานวิจัยปัจจุบันระบุว่า สาเหตุของสายตาสั้นเกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน โดยการใช้สายตาระยะใกล้เป็นเวลานานก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการสายตาสั้นเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี ถ้าจับเด็ก 100 คนให้มานั่งเล่นเกมส์วันละ 10 ชั่วโมงเป็นเวลา 1 ปี จะได้ผลว่าเด็กบางคนสายตาไม่สั้นขึ้นเลย แต่เด็กบางคนสายตาสั้นขึ้นอย่างมาก ดังนั้นผู้ปกครองไม่ต้องกังวลใจ ถ้ากรณีที่ลูกมีกิจกรรมระยะใกล้มากเกินไป ควรให้เขาได้พักสายตาจากการใช้งานระยะใกล้มามองระยะไกลบ้างอย่างน้อยชั่วโมงละ 3-5 นาที เช่น มองออกไปนอกหน้าต่าง ก็เพียงพอแล้ว

สายตาสั้น เป็นแล้วอันตรายไหม ทำให้ตาบอดได้หรือไม่ ? และสายตาสั้นมีข้อควรระวังอะไรบ้าง…….???

สำหรับผู้ที่มีสายตาสั้นไม่มาก (น้อยกว่า -6.00 ไดออปเตอร์) มักจะไม่มีปัญหาสายตาอะไรที่ต้องกังวล แต่ผู้ที่มีสายตาสั้นมากเกินกว่า -6.00 ไดออปเตอร์ (หรือที่มักเรียกว่าสั้นหกร้อย) จะมีความเสี่ยงต่างๆเพิ่มขึ้น ดังนี้

  • จอตาหลุดลอก
  • ต้อหินมุมเปิด
  • วุ้นในลูกตาเสื่อม

ดังนั้น ผู้ที่มีสายตาสั้นมากควรได้รับการตรวจตาอย่างสม่ำเสมอปีละครั้ง รวมถึงทราบถึงอาการและการสังเกตด้วยตนเองของทั้งสามความเสี่ยงข้างต้นเพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีถ้าพบ (ดูเพิ่มเติม ข้อควรรู้สำหรับสั้นเกิน -6.00 ไดออปเตอร์)

สำหรับเด็กที่มีสายตาสั้นเกินกว่า -4.00 D ขึ้นไป มีความเสี่ยงในการเป็นตาขี้เกียจ (Amblyopia, Lazy eye) ดังนั้น ผู้ปกครองทุกท่านควรนำบุตรหลานไปรับการตรวจตาจากนักทัศนมาตรหรือจักษุแพทย์เมื่อเด็กอายุได้ 6 เดือนถึงหนึ่งปี เพื่อคัดกรองว่ามีปัญหาโรคตาหรือสายตาหรือไม่ ถ้ามีปัญหาสายตาหรือโรคตาจะได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีเนื่องจากตาขี้เกียจจะรักษาได้ผลดีที่สุดที่อายุไม่เกิน 6 ปี

สายตาสั้น มีข้อจำกัดในการประกอบอาชีพหรือไม่ มีอาชีพอะไรหรือไม่ที่ห้ามคนสายตาสั้นทำ…….???

มีบางอาชีพที่มีการทดสอบสายตารวมอยู่ในการตรวจร่างกายและถ้าสายตาสั้นเกินกว่าที่กำหนดอาจทำให้ตกการตรวจร่างกาย ตัวอย่างการสอบที่มีการตรวจสายตา เช่น การสอบนักเรียนเตรียมทหาร การสอบนักบิน อย่างไรก็ดี เกณฑ์และเงื่อนไขในการผ่านการทดสอบสายตาขึ้นอยู่กับนโยบายการสอบของแต่ละปี

เบาหวานทำให้สายตาสั้นได้ไหมอย่างไร……???

เบาหวาน (Diabetes Mellitus) ทำให้สายตาสั้นขึ้นชั่วคราวได้ เนื่องจากเมื่อน้ำตาลในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น จะทำให้ระดับของ Sorbital (น้ำตาลชนิดหนึ่งในรูปแอลกอฮอล์) ในเลนส์ตาเพิ่มขึ้น ทำให้เลนส์ตาเกิดการบวมตัวและมีกำลังการหักเหแสงเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ดีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่าพบผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงที่มีค่าสายตาเปลี่ยนไปทางสายตายาว (Hyperopia) เช่นกัน สรุปว่าผู้เป็นเบาหวานอาจมีการเปลี่ยนแปลงสายตาได้ทั้งสั้นมากขึ้น (หรือยาวน้อยลง) หรือยาวมากขึ้น (หรือสั้นน้อยลง) อ่านแล้วอาจงงเล็กน้อยแต่เป็นอย่างนี้จริงๆครับ

ยาบางอย่างทำให้สายตาสั้นได้จริงหรือไม่…..???

จริงครับ ยาบางอย่างมีฤทธิ์หรือผลข้างเคียงทำให้สายตาสั้นได้ เช่น

  • ยากลุ่มที่ทำให้จอตาบวมชั่วคราว (Macular Edema) เช่น ยากลุ่มซัลฟา (Sulfar derivative) ยาต้านเชื้อแบคทีเรียบางชนิด (Antibiotic) และยาขับปัสสาวะ (Diuretic)
  • ยารักษาไมเกรน เช่น Topiramate ยากลุ่ม Eicosanoid ยากันชัก
  • ยากลุ่มรักษาต้อหินบางกลุ่ม ทำให้เกิดเลนส์ตานูนตัวกว่าปกติ

โดยยาส่วนใหญ่เมื่อหยุดยาแล้วก็จะทำให้สายตากลับคืนสู่ภาวะปกติ

ตาสั้นตอนกลางคืนเป็นอย่างไร…..???

ตาสั้นตอนกลางคืน (Night Myopia) คือ ภาวะสายตาสั้นที่เกิดในสภาวะแสงน้อย แม้ว่าคนนั้นมีสายตาปกติในตอนกลางวันแต่อาจเกิดภาวะสายตาสั้นเวลากลางคืนได้ เนื่องจากเมื่อมีแสงน้อยรูม่านตาจะขยายออกทำให้แสงผ่านกระจกตาบริเวณด้านข้างมากขึ้น กระจกตาบริเวณด้านข้างจะมีกำลังหักเหมากกว่ากระจกตาบริเวณกลางรูม่านตาทำให้แสงโฟกัสก่อนถึงจอตา ผู้ที่เป็นสายตาสั้นตอนกลางคืนอาจต้องใช้แว่นตาที่สั้นเพิ่มขึ้น (กำลังเลนส์ลบเพิ่มขึ้น) ในเวลากลางคืน โดยมากมักเกิดกับกลุ่มคนอายุน้อยเนื่องจากคนกลุ่มนี้จะมีขนาดรูม่านตาเฉลี่ยใหญ่กว่าคนสูงอายุ

ลูกสายตาสั้นเพิ่มขึ้นทุกปี มีวิธีทำให้สายตาสั้นไม่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ สามารถป้องกันสายตาสั้นไม่ให้เพิ่มขึ้นได้ไหม…..???

ปัจจุบัน (กันยายน 2010) นักวิจัยชาวอังกฤษได้ค้นพบยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดสายตาสั้นแล้ว และคาดว่าอีกภายใน 10 ปีข้างหน้าจะมียาที่หยุดสายตาไม่ให้สั้นเพิ่มขึ้นได้ ส่วนผู้ทีมีสายตาสั้นอยู่แล้วยานี้ไม่สามารถจะทำให้สายตาที่สั้นอยู่แล้วลดลงได้ (ยาเป็นเพียงตัวหยุดสายตา ไม่ให้สั้นเพิ่มขึ้นเท่านั้น) ต้องรอไปก่อนอีกประมาณสิบปีครับ

สำหรับในปัจจุบันได้มีความพยายามคิดค้นวิธีที่จะป้องกันไม่ให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้น ซึ่งมีการใช้หลายวิธี โดยบางวิธีได้ผลมาก บางวิธีได้ผลน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลด้วย วิธีดังกล่าวคือ

  • การใช้แว่นตาสำหรับการทำงานระยะใกล้เพื่อลดการเพ่งของเลนส์ตา เช่น เลนส์อ่านหนังสือ เลนส์สองชั้น หรือเลนส์โปรเกรสซีฟ เป็นต้น อย่างไรก็ดี แต่ละวิธีมีข้อควรระวังและผลดีผลเสียที่แตกต่างกันคือ (ข้อควรระวัง แต่ละวิธีมีรายละเอียดปลีกย่อย ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้ผลดีที่สุด)
    • เลนส์อ่านหนังสือ ราคาถูกที่สุด แต่เด็กจะมองระยะไกลไม่ชัดเจน ไม่แนะนำเพราะว่าจะทำให้เด็กขาดการเรียนรู้จากการมองระยะไกล
    • เลนส์สองชั้น ราคาแพงกว่าเลนส์อ่านหนังสือชั้นเดียว แต่ทำให้เด็กมองเห็นชัดทั้งระยะใกล้และไกล มีข้อเสียคือแว่นตาเด็กจะดูไม่ค่อยสวย เด็กอาจไม่ชอบหรือโดนเพื่อนล้อที่ใส่แว่นตาสองชั้นเหมือนครูอายุ 50 ปี (ลองนึกภาพเด็กใส่แว่นตาสองชั้น ซึ่งปกติใช้ในผู้ใหญ่ประกอบ)
    • เลนส์โปรเกรสซีฟ ให้เด็กมองเห็นได้ทั้งระยะใกล้ กลาง และไกลได้ชัดเจน แต่มีข้อเสียคือราคาแพงและเด็กต้องมีการฝึกการใช้มากกว่าเลนส์ชนิดอื่น
  • การหยอดยาลดการเพ่ง คือ Atropine วิธีนี้จะทำให้เด็กไม่มีการเพ่งเลย ดังนั้นเมื่อใช้แล้วอาจต้องมีการใส่แว่นตาร่วมด้วย ไม่อย่างนั้นเด็กจะมองเห็นได้ไม่ชัดเจน
  • การใช้คอนแทคเลนส์ ในปัจจุบันมีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่าคอนแทคเลนส์ Orthokeratology หรือคอนแทคเลนส์ชนิด Center Distance bifocal ช่วยชะลอการเพิ่มของสายตาสั้นได้

***หากท่านใดสนใจและอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่อง คอนแทคเลนส์ Orthokeratology ติดต่อได้ที่ ไลน์แอด  @drbirdcl  โดยคลิกที่ลิ้งนี้  https://line.me/R/ti/p/%40drbirdcl  หรือสแกน QR Code ด้านล่าง

 

 

 

 

รู้สึกว่ามองไกลบางครั้งชัด บางครั้งไม่ชัด สาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง…..???

การเปลี่ยนแปลงของสายตาแบบเป็นๆหายๆ เดี๋ยวสั้นเดี๋ยวไม่สั้น อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ต้องลองสังเกตดูนะครับว่าตนเองเข้าข่ายอันไหนบ้าง สาเหตุที่พอจะนึกออกมีดังนี้ครับ

  • เกิดจากโรคบางโรค เช่น โรคเบาหวาน เมื่อระดับน้ำตาลในกระแสเลือดเปลี่ยนแปลงสามารถส่งผลให้ค่าสายตาเปลี่ยนแปลงได้ด้วย ค่าสายตาที่เปลี่ยนไปเป็นได้ทั้งสั้นมากขึ้นหรือสั้นน้อยลง (ในทำนองเดียวกัน อาจเปลี่ยนเป็นยาวน้อยลงหรือยาวมากขึ้นได้ด้วย) อนึ่งถ้าท่านเป็นโรคเบาหวานควรคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดไม่ให้เปลี่ยนแปลงมากเกินไป และได้รับการตรวจจอตาเป็นประจำเพื่อเฝ้าระวังโรคเบาหวานขึ้นตา ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องครับ
  • เกิดจากยาบางชนิด เช่น กลุ่มยาขับปัสสาวะ ยากลุ่มซัลฟา ยากันชัก ยารักษาต้อหินบางชนิด ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อให้ทราบว่ายาที่ท่านใช้อยู่มีผลข้างเคียงดังกล่าวหรือไม่
  • เกิดจากการใช้สายตาระยะใกล้เป็นเวลานานทำให้มีการเพ่งค้าง (Accommodation Spasm) อาการนี้จะทำให้ท่านมองไกลไม่ชัด มักเป็นหลังจากที่มีการมองระยะใกล้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาการอาจหายไปเองได้ภายในไม่กี่นาทีหรืออาจอยู่นานหลายวัน ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด สามารถป้องกันได้โดยไม่ทำงานระยะใกล้ติดต่อกันนานเกินไป ควรพักสายตาเพื่อมองระยะไกลบ้างอย่างน้อยชั่วโมงละ 3-5 นาทีเพื่อคลายกล้ามเนื้อตาและการเพ่ง
  • สายตาสั้นตอนกลางคืน (Night Myopia) ลองสังเกตว่าตอนที่มองไกลไม่ชัดมักเกิดเวลากลางคืนหรือในสภาวะแสงน้อยหรือไม่ ถ้าใช่แสดงว่าท่านอาจมีสายตาสั้นเวลากลางคืนซึ่งเกิดจากการที่รูม่านตาขยายใหญ่ ทำให้แสงที่ผ่านกระจกตาบริเวณที่ห่างจากจุดกึ่งกลางตาดำสามารถเข้าสู่ดวงตาได้มากขึ้น กระจกตาบริเวณดังกล่าวมีกำลังหักเหมากกว่ากระจกตาบริเวณกึ่งกลางตาดำ ทำให้แสงโฟกัสก่อนจอตาและมองเห็นไม่ชัดได้ ในกรณีนี้อาจต้องหาแว่นสายตาที่มีกำลังเลนส์ลบมากขึ้นมาใส่ตอนกลางคืนขณะที่ต้องใช้สายตาระยะไกล เช่น เวลาขับรถ เป็นต้น

 

***หากท่านใดมีคำถามเพิ่มเติม สอบถามได้ทางอีเมล์ ” drbirdcl@gmail.com ” ครับ

แชร์ไปที่ :

บทความอื่นๆ

ติดต่อนัดหมาย