คอนแทคเลนส์สำหรับผู้ตาแห้ง [AT077]

คอนแทคเลนส์สำหรับผู้ตาแห้ง [AT077]

คอนแทคเลนส์สำหรับผู้ตาแห้ง

คอนแทคเลนส์มีหลายชนิด โดยคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มที่นิยมใช้กันทั่วไปเป็นคอนแทคเลนส์ที่ทำให้ผู้ใส่ตาแห้งเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการไม่ใส่คอนแทคเลนส์ อย่างไรก็ดียังมีคอนแทคเลนส์อีกหลายชนิดที่ใส่แล้วไม่ทำให้ตาแห้ง บางชนิดสามารถเก็บความชื้นไว้กับดวงตาได้ดีมาก ถึงกับสามารถใช้รักษาผู้ที่ตาแห้งมากโดยเฉพาะ เช่น การใช้สเคลอร่าเลนส์ (Scleral Lens) สำหรับรักษาผู้ที่ตาแห้งที่เกิดจากโรคโจเกรน (Sjogren’s Syndrome) ซึ่งผู้ที่เป็นโรคดังกล่าว ต่อมน้ำตาจะถูกทำลายทำให้ไม่มีการผลิตน้ำตาเลยส่งผลให้ตาแห้งมาก เมื่อกระพริบตาเปลือกตาจะสีกับกระจกตาทำให้เกิดแผลถลอก นานวันเข้าทำให้เกิดรอยแผลเป็นที่กระจกตาทำให้กระจกตาขุ่นและตาบอดในที่สุด การใส่สเคลอร่าเลนส์ จะช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้กับกระจกตา และปกป้องกระจกตาจากการเป็นรอยแผลเป็นได้

รูปแสดงคอนแทคเลนส์ RGP ทั่วไป (ซ้าย) เทียบกับสเคลอร่าเลนส์ (ขวา)

ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์นิ่มแล้วเกิดอาการตาแห้ง ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อยมักจะทนกับปัญหาดังกล่าว บ้างก็แก้ปัญหาโดยการหยอดน้ำตาเทียม ซึ่งใช้ได้ดีกับผู้ที่ตาแห้งไม่มาก แต่สำหรับผู้ที่ตาแห้งมากแล้ว น้ำตาเทียมกลับแก้ปัญหาได้เพียงชั่วคราว ทำให้ต้องหยอดน้ำตาเทียมบ่อยๆ หลายคนทนกับปัญหาตาแห้งไม่ไหวก็เลิกใส่คอนแทคเลนส์ไป โดยคนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่า อาการตาแห้งที่เกิดจากการใส่คอนแทคเลนส์ สามารถแก้ไขได้

ตาแห้งที่เกิดจากการใส่คอนแทคเลนส์เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งมีทั้งสาเหตุที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวกับคอนแทคเลนส์ ตัวอย่างสาเหตุตาแห้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับคอนแทคเลนส์ เช่น การกระพริบตาไม่สนิท หรือกระพริบน้อยเกินไป น้ำตาไม่มีคุณภาพ น้ำตาผลิตน้อย น้ำตาระเหยเร็วเกินไป สภาวะแวดล้อมภายนอก เช่น อากาศแห้ง ลมแรง ฝุ่นควันมาก ต่อมไขมันที่เปลือกตาอักเสบ (Meibomianitis) เปลือกตาอักเสบ (Blepharitis) โรคโจเกรน (Sjogren’s Syndrome) หรือการรับประทานยาบางชนิดที่มีผลทำให้ตาแห้ง ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ตาแห้งได้ ถ้าได้รับการตรวจ ทราบสาเหตุที่แน่ชัดและแก้ไขก็จะทำให้อาการตาแห้งลดน้อยลงหรือหมดไปได้

 

 

 

 

 

 

ที่มา : https://www.pobpad.com/%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%9A

ภาพแสดงเปลือกตาอักเสบ (Blepharitis)

โดยที่บ่อยครั้งการแก้ปัญหาตาแห้งต้องทำควบคู่กับการเปลี่ยนชนิดของคอนแทคเลนส์ หรือน้ำยาต่างๆที่ใช้กับคอนแทคเลนส์ เช่น

  • การเปลี่ยนชนิดน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ที่ใช้ เนื่องจากน้ำยาแต่ละรุ่นมีองค์ประกอบของสารต่างๆข้างในที่แตกต่างกัน คนบางคนแพ้สารเคมีในน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ ซึ่งถ้าเปลี่ยนไปใช้ชนิดที่ไม่แพ้ก็จะทำให้อาการตาแห้งน้อยลงได้ หรือถ้าผู้ใช้แพ้สารเคมีง่ายอาจเปลี่ยนไปใช้น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ชนิดที่ไม่มีสารกันเสียหลงเหลือเมื่อใส่เข้าตา (การแพ้น้ำยา ทำให้เกิดการอักเสบ (Inflammation) ซึ่งทำให้เกิดความระคายเคืองตา และอวัยวะต่างๆในดวงตาทำงานได้ไม่ดี คนจำนวนมากที่มีอาการตาแห้ง เมื่อเปลี่ยนไปใช้น้ำยาล้างทำความสะอาดคอนแทคเลนส์และน้ำตาเทียมที่เหมาะสม ทำให้อาการตาแห้งลดลงหรือหายไป)
  • การเปลี่ยนรุ่นคอนแทคเลนส์ที่ใช้ โดยทั่วไปคอนแทคเลนส์ที่มีค่าอมน้ำ (Water Content) น้อยกว่า จะทำให้ตาแห้งน้อยกว่า คอนแทคเลนส์นิ่มมีค่าอมน้ำอยู่ระหว่าง 40-70% ถ้าใช้คอนแทคเลนส์นิ่มที่มีค่าอมน้ำต่ำแล้วยังมีอาการตาแห้งอยู่ ควรเปลี่ยนไปใช้คอนแทคเลนส์ชนิดกึ่งนิ่มกึ่งแข็ง (Rigid Gas Permeable , RGP) ซึ่งมีค่าอมน้ำต่ำไม่เกิน 10% ก็จะลดอาการตาแห้งลงได้มาก (ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตเลนส์ RGP ทำให้มีเลนส์หลายรุ่นที่ใส่สบายเทียบเท่ากับคอนแทคเลนส์นิ่ม ไม่มีอาการเคืองตาดังเลนส์ RGP ในยุคก่อน)

ดูตารางค่าอมน้ำ(Water Content) ของคอนแทคเลนส์นิ่มที่มีขายในประเทศไทย

  • การเลือกใช้คอนแทคเลนส์และน้ำยาทำความสะอาดที่เข้ากันได้ จากงานวิจัยของ Andrasko พบว่า การจับคู่คอนแทคเลนส์และน้ำยาล้างที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิด Corneal Staining ได้ (Corneal staining คือการที่กระจกตาย้อมติดสีย้อมเนื่องจากมีเซลล์กระจกตาบริเวณดังกล่าวหลุดออกไป ตายิ่งมี Corneal Staining มาก ยิ่งเกิดปัญหาตาแห้งและระคายเคืองตามาก)

ดูตารางจับคู่คอนแทคเลนส์และน้ำยาทำความสะอาดที่เข้ากันได้(สีเขียวคือ เข้ากันได้ สีแดงคือเข้ากันไม่ได้)

ตาแห้งเป็นปัญหาที่สร้างความรำคาญให้กับชีวิต ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน ถ้าทราบถึงสาเหตุที่ทำให้ตาแห้งและแก้ไขอย่างถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวอาจน้อยลงหรือหมดไปได้

แชร์ไปที่ :

บทความอื่นๆ

ติดต่อนัดหมาย