คอนแทคเลนส์ควบคุมสายตาสั้น [AT076]

คอนแทคเลนส์ควบคุมสายตาสั้น [AT076]

พ่อแม่ที่มีลูกสายตาสั้น มักมีคำถามอยู่ในใจทุกครั้งที่พาลูกไปตัดแว่นใหม่ว่า “เมื่อไรหนอที่ลูกสายตาจะหยุดสั้นเพิ่มขึ้น” หรือ “มีวิธีใดหรือไม่ที่จะทำให้ลูกสายตาไม่สั้นเพิ่มขึ้น หรือสายตาสั้นหายไปเลยยิ่งดี”

นอกจากสายตาที่สั้นเพื่มขึ้นจะทำให้ต้องใส่แว่นหนาขึ้นและเปลื่องค่าตัดแว่นอันใหม่แล้ว ยังมีผลเสียต่างๆตามมามากมาย เช่น ตามัวมากขึ้นเมื่อไม่มีแว่น  ลำบากเมื่อต้องทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เล่นกีฬา เต้นรำ เสียบุคลิกโดยเฉพาะถ้าต้องใส่แว่นหนา ขาดความมั่นใจเพราะอาจถูกเพื่อนล้อ ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นเพราะต้องใช้เลนส์ย่อบางราคาแพง

เมื่อโตขึ้นถ้าสายตาสั้นมากอาจไม่สามารถแก้ไขด้วยการทำเลสิกได้หมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสายตาสั้นมากกว่า -6.00 D ขึ้นไป จะทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการเป็นโรคตาที่รุนแรงหลายโรค เช่น ต้อหิน จอประสาทตาฉีกขาดหลุดลอก จอตาเสื่อม ฯลฯ

ผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้นมากแทบทุกคนไม่ได้มีสายตาสั้นมากตั้งแต่เกิด โดยส่วนใหญ่จะเริ่มจากสายตาสั้นเพียงเล็กน้อยในวัยเด็กและสั้นเพิ่มขึ้นทุกๆปี ทำให้มีสายตาสั้นสะสมกลายเป็นสายตาสั้นมากในที่สุด ยกตัวอย่างเช่น

นายเอ (นามสมมุติ) ปัจจุบันอายุ 20 ปีสายตาสั้น -12.00 D (สั้นหนึ่งพันสองร้อย) ตอนแรกเกิด ด.ช.เอ สายตาสั้นเพียง -2.00 D (สั้นสองร้อย) แสดงว่าในระยะเวลา 20 ปี สายตาของ ด.ช.เอ สั้นเพิ่มขึ้น -10.00 D หรือเฉลี่ยปีละ -0.50 D จะเห็นว่านายเอไม่ได้มีสายตาสั้นมากมาตั้งแต่เกิด แต่สายตาสั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปีสะสมมากขึ้นจนกระทั่งสายตาสั้นมากในตอนโต ดังนั้น ถ้ามีวิธีทำให้ ด.ช.เอ สายตาไม่สั้นเพิ่มขึ้นเลย ก็จะทำให้นายเอมีสายตาสั้นเพียง -2.00 D เท่านั้น เมื่อโตขึ้นหรือถ้ามีวิธีที่ชลอสายตาของ ด.ช.เอ ให้สั้นช้าลงครึ่งหนึ่ง คือ 0.25 D ต่อปี จะทำให้เมื่อ ด.ช.เอ อายุ 20 ปีจะมีสายตาเพียง -7.00 D (สั้นเจ็ดร้อย) ซึ่งน้อยกว่า -12.00 D อยู่พอสมควร ซึ่งการหยุดหรือชะลอไม่ให้สายตาสั้นเพิ่มนั้น เรียกว่า “การควบคุมสายตาสั้น”

ที่ผ่านมามีวิธีที่ใช้ควบคุมสายตาสั้นมากมาย แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยม เนื่องจากวิธีที่ได้ผลเป็นวิธีที่มีผลข้างเคียงมากต่อเด็ก เช่น วิธีผ่าตัดหรือการใช้ยาคลายการเพ่ง ส่วนวิธีอื่นที่ไม่ใช้ยาและไม่ผ่าตัด กลับได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร เช่น วิธีการใส่แว่นตาสองชั้น การใส่แว่นโปรเกรสซีฟ ฯลฯ ดังนั้นการควบคุมสายตาสั้นจึงไม่เป็นที่นิยมทำให้ไม่ค่อยมีใครรู้จักเท่าไรนัก อย่างไรก็ดีในปัจจุบันเพิ่งมีการค้นพบและรับรองผลว่า คอนแทคเลนส์บางชนิดสามารถใช้ควบคุมสายตาสั้นได้ดี และไม่มีผลข้างเคียงในการใช้ แถมยังเป็นการแก้ไขสายตาสั้นไปด้วยในตัวด้วย จึงทำให้เริ่มมีการควบคุมสายตาสั้นด้วยคอนแทคเลนส์เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ เช่น อเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน ฯลฯ

ที่มา : https://forlittleeyes.com/2012/09/28/your-stories-bifocal-qa/

ภาพการใส่แว่นตาสองชั้นในเด็ก

คอนแทคเลนส์ที่เพิ่งถูกค้นพบว่าได้ผลดีในการควบคุมสายตาสั้น คือ คอนแทคเลนส์ OrthoK (OK Lens) ซึ่งผลการควบคุมสายตาสั้นของ OK Lens ถูกค้นพบโดยบังเอิญว่า เด็กที่ใช้เลนส์นี้มักมีสายตาสั้นเพิ่มขึ้นน้อยหรือไม่เพิ่มขึ้นเลย จากการค้นคว้าเพิ่มเติมจึงพบว่า สามารถควบคุมสายตาสั้นได้เนื่องจากการเปลี่ยนลักษณะแสงในลูกตาให้แสงที่โฟกัสที่ริมจอตามีการโฟกัสสั้นกว่าจอตา (Peripheral Myopic Defocus) (Smith et al., 2009) โดย OK Lens ผ่านการวิจัยระยะสั้นและระยะยาวแล้วว่ามีความปลอดภัย (Mika R. et al., 2007) (Hoshi H. et al, 2012) สามารถใช้ได้ดีกับเด็กที่สายตาสั้นเพิ่มขึ้นทุกปี (Newman C., 2011) ไม่มีผลข้างเคียงเนื่องจากไม่ต้องใช้ยาหรือผ่าตัด

ที่มา : https://tnoajosr.com/article.asp?issn=2589-4528;year=2020;volume=58;issue=4;spage=280;epage=287;aulast=Kaur;type=3

รูปเปรียบเทียบ Peripheral Myopic Defocus และ Peripheral Hyperopic Defocus

นอกจากคอนแทคเลนส์ OrthoK แล้ว ก็ยังมีการคิดค้นคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มขึ้นมาเพื่อควบคุมสายตาสั้นโดยการจำลองสภาวะแสงในลูกตาให้เป็นลักษณะ PMD เช่นเดียวกันกับ OK Lens ซึ่งงานวิจัยระยะสั้นพบว่าสามารถควบคุมสายตาสั้นได้เป็นที่น่าพอใจ ( Sankaridurg et al., 2011 และ Anstice & Phillips, 2011 ) อย่างไรก็ดีต้องรอติดตามผลการวิจัยระยะยาวและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทต่างๆ ซึ่งคาดว่าคอนแทคเลนส์ดังกล่าวน่าจะได้วางตลาดในอนาคตอันใกล้นี้

ตัวอย่างงานวิจัยการใช้คอนแทคเลนส์ OrthoK เพื่อควบคุมสายตาสั้น

  • Hiraoka et al., 2012 ศึกษาเด็กที่ใส่แว่นตา 59 คน เทียบกับเด็กที่ใช้ OK จำนวน 29 คน ช่วงอายุระหว่าง 8-12 ปี จากการตามผลเป็นเวลา 5 ปีพบว่า OK มีผลทำให้ความยาวกระบอกตา*เพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการใส่แว่นสายตาโดยเด็กที่ใช้ OK มีความยาวกระบอกตาเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยน้อยกว่าเด็กที่ใช้แว่นตาประมาณครึ่งหนึ่ง (ความยาวกระบอกตาเพิ่มขึ้นทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้น)
  • การศึกษาของ Cho et al, 2005 และ Walline et al, 2010 ได้ผลว่า การใช้ OrthoK ใส่นอนสามารถควบคุมสายตาสั้นได้
  • Kakita et al,2011 ทำวิจัยกับเด็กกลุ่มใหญ่จำนวน 210 คน อายุระหว่าง 8-16 ปี โดยการเปรียบเทียบความยาวกระบอกตาของเด็กที่ใส่แว่น กับเด็กที่ใช้ OrthoK ได้ผลว่า OrthoK สามารถชลอการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้นได้เมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มที่ใส่แว่นตา
  • การใช้คอนแทคเลนส์เพื่อควบคุมสายตาสั้นในเด็ก สามารถทำได้โดยไม่มีผลเสียหรือผลข้างเคียงแต่อย่างใด โดยนอกจากคอนแทคเลนส์ดังกล่าวสามารถควบคุมสายตาสั้นได้แล้ว ยังช่วยทำให้เด็กมีความมั่นใจและกล้าแสดงออกมากขึ้นด้วย (Newman, C. 2011) อ่านเพิ่มเติม Slowing Down Myopia With Contact Lenses

แชร์ไปที่ :

บทความอื่นๆ

ติดต่อนัดหมาย