พ่อแม่ที่มีลูกสายตาสั้น มักมีคำถามอยู่ในใจทุกครั้งที่พาลูกไปตัดแว่นใหม่ว่า “เมื่อไรหนอที่ลูกสายตาจะหยุดสั้นเพิ่มขึ้น” หรือ “มีวิธีใดหรือไม่ที่จะทำให้ลูกสายตาไม่สั้นเพิ่มขึ้น หรือสายตาสั้นหายไปเลยยิ่งดี”
นอกจากสายตาที่สั้นเพื่มขึ้นจะทำให้ต้องใส่แว่นหนาขึ้นและเปลื่องค่าตัดแว่นอันใหม่แล้ว ยังมีผลเสียต่างๆตามมามากมาย เช่น ตามัวมากขึ้นเมื่อไม่มีแว่น ลำบากเมื่อต้องทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เล่นกีฬา เต้นรำ เสียบุคลิกโดยเฉพาะถ้าต้องใส่แว่นหนา ขาดความมั่นใจเพราะอาจถูกเพื่อนล้อ ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นเพราะต้องใช้เลนส์ย่อบางราคาแพง
เมื่อโตขึ้นถ้าสายตาสั้นมากอาจไม่สามารถแก้ไขด้วยการทำเลสิกได้หมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสายตาสั้นมากกว่า -6.00 D ขึ้นไป จะทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการเป็นโรคตาที่รุนแรงหลายโรค เช่น ต้อหิน จอประสาทตาฉีกขาดหลุดลอก จอตาเสื่อม ฯลฯ
ผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้นมากแทบทุกคนไม่ได้มีสายตาสั้นมากตั้งแต่เกิด โดยส่วนใหญ่จะเริ่มจากสายตาสั้นเพียงเล็กน้อยในวัยเด็กและสั้นเพิ่มขึ้นทุกๆปี ทำให้มีสายตาสั้นสะสมกลายเป็นสายตาสั้นมากในที่สุด ยกตัวอย่างเช่น
นายเอ (นามสมมุติ) ปัจจุบันอายุ 20 ปีสายตาสั้น -12.00 D (สั้นหนึ่งพันสองร้อย) ตอนแรกเกิด ด.ช.เอ สายตาสั้นเพียง -2.00 D (สั้นสองร้อย) แสดงว่าในระยะเวลา 20 ปี สายตาของ ด.ช.เอ สั้นเพิ่มขึ้น -10.00 D หรือเฉลี่ยปีละ -0.50 D จะเห็นว่านายเอไม่ได้มีสายตาสั้นมากมาตั้งแต่เกิด แต่สายตาสั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปีสะสมมากขึ้นจนกระทั่งสายตาสั้นมากในตอนโต ดังนั้น ถ้ามีวิธีทำให้ ด.ช.เอ สายตาไม่สั้นเพิ่มขึ้นเลย ก็จะทำให้นายเอมีสายตาสั้นเพียง -2.00 D เท่านั้น เมื่อโตขึ้นหรือถ้ามีวิธีที่ชลอสายตาของ ด.ช.เอ ให้สั้นช้าลงครึ่งหนึ่ง คือ 0.25 D ต่อปี จะทำให้เมื่อ ด.ช.เอ อายุ 20 ปีจะมีสายตาเพียง -7.00 D (สั้นเจ็ดร้อย) ซึ่งน้อยกว่า -12.00 D อยู่พอสมควร ซึ่งการหยุดหรือชะลอไม่ให้สายตาสั้นเพิ่มนั้น เรียกว่า “การควบคุมสายตาสั้น”
ที่ผ่านมามีวิธีที่ใช้ควบคุมสายตาสั้นมากมาย แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยม เนื่องจากวิธีที่ได้ผลเป็นวิธีที่มีผลข้างเคียงมากต่อเด็ก เช่น วิธีผ่าตัดหรือการใช้ยาคลายการเพ่ง ส่วนวิธีอื่นที่ไม่ใช้ยาและไม่ผ่าตัด กลับได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร เช่น วิธีการใส่แว่นตาสองชั้น การใส่แว่นโปรเกรสซีฟ ฯลฯ ดังนั้นการควบคุมสายตาสั้นจึงไม่เป็นที่นิยมทำให้ไม่ค่อยมีใครรู้จักเท่าไรนัก อย่างไรก็ดีในปัจจุบันเพิ่งมีการค้นพบและรับรองผลว่า คอนแทคเลนส์บางชนิดสามารถใช้ควบคุมสายตาสั้นได้ดี และไม่มีผลข้างเคียงในการใช้ แถมยังเป็นการแก้ไขสายตาสั้นไปด้วยในตัวด้วย จึงทำให้เริ่มมีการควบคุมสายตาสั้นด้วยคอนแทคเลนส์เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ เช่น อเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน ฯลฯ
ที่มา : https://forlittleeyes.com/2012/09/28/your-stories-bifocal-qa/
ภาพการใส่แว่นตาสองชั้นในเด็ก
คอนแทคเลนส์ที่เพิ่งถูกค้นพบว่าได้ผลดีในการควบคุมสายตาสั้น คือ คอนแทคเลนส์ OrthoK (OK Lens) ซึ่งผลการควบคุมสายตาสั้นของ OK Lens ถูกค้นพบโดยบังเอิญว่า เด็กที่ใช้เลนส์นี้มักมีสายตาสั้นเพิ่มขึ้นน้อยหรือไม่เพิ่มขึ้นเลย จากการค้นคว้าเพิ่มเติมจึงพบว่า สามารถควบคุมสายตาสั้นได้เนื่องจากการเปลี่ยนลักษณะแสงในลูกตาให้แสงที่โฟกัสที่ริมจอตามีการโฟกัสสั้นกว่าจอตา (Peripheral Myopic Defocus) (Smith et al., 2009) โดย OK Lens ผ่านการวิจัยระยะสั้นและระยะยาวแล้วว่ามีความปลอดภัย (Mika R. et al., 2007) (Hoshi H. et al, 2012) สามารถใช้ได้ดีกับเด็กที่สายตาสั้นเพิ่มขึ้นทุกปี (Newman C., 2011) ไม่มีผลข้างเคียงเนื่องจากไม่ต้องใช้ยาหรือผ่าตัด
รูปเปรียบเทียบ Peripheral Myopic Defocus และ Peripheral Hyperopic Defocus
นอกจากคอนแทคเลนส์ OrthoK แล้ว ก็ยังมีการคิดค้นคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มขึ้นมาเพื่อควบคุมสายตาสั้นโดยการจำลองสภาวะแสงในลูกตาให้เป็นลักษณะ PMD เช่นเดียวกันกับ OK Lens ซึ่งงานวิจัยระยะสั้นพบว่าสามารถควบคุมสายตาสั้นได้เป็นที่น่าพอใจ ( Sankaridurg et al., 2011 และ Anstice & Phillips, 2011 ) อย่างไรก็ดีต้องรอติดตามผลการวิจัยระยะยาวและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทต่างๆ ซึ่งคาดว่าคอนแทคเลนส์ดังกล่าวน่าจะได้วางตลาดในอนาคตอันใกล้นี้
ตัวอย่างงานวิจัยการใช้คอนแทคเลนส์ OrthoK เพื่อควบคุมสายตาสั้น
- Hiraoka et al., 2012 ศึกษาเด็กที่ใส่แว่นตา 59 คน เทียบกับเด็กที่ใช้ OK จำนวน 29 คน ช่วงอายุระหว่าง 8-12 ปี จากการตามผลเป็นเวลา 5 ปีพบว่า OK มีผลทำให้ความยาวกระบอกตา*เพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการใส่แว่นสายตาโดยเด็กที่ใช้ OK มีความยาวกระบอกตาเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยน้อยกว่าเด็กที่ใช้แว่นตาประมาณครึ่งหนึ่ง (ความยาวกระบอกตาเพิ่มขึ้นทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้น)
- การศึกษาของ Cho et al, 2005 และ Walline et al, 2010 ได้ผลว่า การใช้ OrthoK ใส่นอนสามารถควบคุมสายตาสั้นได้
- Kakita et al,2011 ทำวิจัยกับเด็กกลุ่มใหญ่จำนวน 210 คน อายุระหว่าง 8-16 ปี โดยการเปรียบเทียบความยาวกระบอกตาของเด็กที่ใส่แว่น กับเด็กที่ใช้ OrthoK ได้ผลว่า OrthoK สามารถชลอการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้นได้เมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มที่ใส่แว่นตา
- การใช้คอนแทคเลนส์เพื่อควบคุมสายตาสั้นในเด็ก สามารถทำได้โดยไม่มีผลเสียหรือผลข้างเคียงแต่อย่างใด โดยนอกจากคอนแทคเลนส์ดังกล่าวสามารถควบคุมสายตาสั้นได้แล้ว ยังช่วยทำให้เด็กมีความมั่นใจและกล้าแสดงออกมากขึ้นด้วย (Newman, C. 2011) อ่านเพิ่มเติม Slowing Down Myopia With Contact Lenses