ประวัติ
คุณแม่พา ด.ญ. นพรัตน์ (นามสมมุติ) อายุ 13 ปี มาตรวจสายตา เนื่องจากแว่นอันเดิมมองเห็นไม่ชัด ผลการตรวจสายตาพบว่า ตาข้างขวาและข้างซ้ายสั้นลงเล็กน้อย แต่ตาข้างซ้ายมีสายตาเอียงเพิ่มขึ้นมากกว่าการวัดครั้งก่อนถึง 5.00 D ซึ่งปกติค่าสายตาเอียงไม่น่าจะเปลี่ยนมากขนาดนี้ ทางร้านจึงตรวจด้วยเครื่องถ่ายแผนที่กระจกตา (Corneal Topographer) เพิ่มเติม
ภาพถ่ายแผนที่กระจกตา ในผู้ที่เป็นกระจกตาโป่งพองเทียบกับคนปกติ
ผลการตรวจพบว่า กระจกตาด้านซ้ายบริเวณกลางค่อนไปทางล่างและหัวตา มีการนูนตัวขึ้นมา ซึ่งอาการดังกล่าวเกิดจากโรคกระจกตาโป่ง (Keatoconus) เมื่อให้น้องทดลองใส่แว่นตาที่วัดค่าได้ ปรากฏว่าการมองเห็นของตาซ้ายยังไม่ดีนัก จึงทดลองให้น้องใส่เลนส์ชนิดกึ่งนิ่มกึ่งแข็งชนิดธรรมดา (RGP ขนาดเล็กกว่าตาดำ) พบว่าน้องมองเห็นได้ชัดเจนดีขึ้น แต่รู้สึกเคืองตามาก จึงลองเปลี่ยนมาเป็นคอนแทคเลนส์ชนิดกึ่งนิ่มกึ่งแข็งชนิด Reverse Geometry เปรียบเทียบกับคอนแทคเลนส์กึ่งนิ่มกึ่งแข็งที่ขนาดใหญ่กว่าตาดำ (Scleral Lens) ปรากฏว่าน้องมองเห็นได้ชัดเจนดีและรู้สึกสบายตาดีมาก จึงทำการสั่งตัดคอนแทคเลนส์ชนิดหลังให้น้องใส่
ในปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคกระจกตาโป่งพองที่แน่ชัดและยังไม่มีการรักษาใดๆที่ได้ผล ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือ การแก้ไขค่าสายตาด้วยแว่นตา หรือคอนแทคเลนส์ชนิดต่างๆทั้งชนิดธรรมดาและชนิดพิเศษเฉพาะสำหรับผู้เป็นกระจกตาโป่งพอง การแก้ไขที่เหมาะสมขึ้นกับความรุนแรงของโรค โดยยิ่งกระจกตาโป่งพองมาก การแก้ไขด้วยแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ธรรมดาอาจทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจนเท่าที่ควร การใส่คอนแทคเลนส์กึ่งนิ่มกึ่งแข็งทั่วๆไปอาจทำให้การมองเห็นชัดเจนขึ้นแต่ผู้ป่วยอาจรู้สึกเคืองตาเป็นอย่างมาก หมอแว่นมีคอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษหลายรุ่นสำหรับกระจกตาโป่งพองขั้นรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยมีการมองเห็นที่ชัดเจน และใส่คอนแทคเลนส์ได้อย่างสบายตา คอนแทคเลนส์สำหรับกระจกตาโป่งพองรุ่นใหม่จะมีการออกแบบให้คอนแทคเลนส์ไม่ถูโดนกระจกตาส่วนที่โป่งพองออกมา เพื่อลดโอกาสเกิดรอยถลอกหรือรอยแผลเป็นของกระจกตาจากการที่ถูกคอนแทคเลนส์ถูเป็นระยะเวลานานด้วย
อ่านเพิ่มเติม “กระจกตาโป่งพอง”
ภาพกระจกตาโป่งขั้นรุนแรง อาจสังเกตได้ด้วยตาเปล่า โดยเห็นกระจกตานูนขึ้นมาอย่างชัดเจน
ภาพกระจกตาโป่ง เมื่อใส่คอนแทคเลนส์ที่ไม่เหมาะสมเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดแผลเป็นที่กระจกตา