สายตาสั้น (Myopia)
หมายถึง ปัญหาสายตาที่แสงโฟกัสก่อนถึงจอตา ทำให้การมองเห็นระยะไกลไม่ชัด และสามารถเห็นระยะใกล้ได้ชัดเจนดีกว่า ยิ่งค่าสายตาสั้นมาก มองไกลยิ่งมัวลง
ภาพซ้ายแสดงการมองเห็นปกติ (Normal vision) ที่แสงตกพอดีบนจอตา ทำให้มองไกลชัด และภาพขวาแสดงแสงที่ตกก่อนจอตา ทำให้มองไกลไม่ชัด เกิดเป็นสายตาสั้น (Myopia)
ทั้งนี้ จากงานวิจัยพบว่า สายตาสั้นเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากแสงบริเวณริมโฟกัสเลยลูกตาออกไป (Peripheral hyperopic defocus) ทำให้ลูกตาต้องยืดขยายออกมารับแสงส่วนใหญ่ (กระบอกตายาวขึ้น) ทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้น
ภาพแสดงแสงบริเวณริมโฟกัสเลยลูกตาออกไป (Peripheral hyperopic defocus) ที่ทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้น
เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองทราบว่าบุตรหลานของท่านมีสายตาสั้นก็คงจะมีคความกังวลใจไม่น้อย และเกรงว่าในอนาคตสายตาจะยิ่งสั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอีก ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพหรือการทำกิจกรรมต่างๆในอนาคต เช่น นักบิน แอร์โฮสเตจ ตำรวจ ทหาร หรือการเล่นกีฬา เป็นต้น
ในวันนี้เรามีวิธีที่ทำให้สายตาไม่สั้นเพิ่มขึ้นมากบอก เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในควบคุมสายตาสั้นไม่ให้เพิ่มขึ้น หรือเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
วิธีที่ทำให้สายตาไม่สั้นเพิ่มขึ้น มี 6 วิธี ดังต่อไปนี้
- การให้แว่นสายตาที่น้อยกว่าค่าสายตาจริง (Under correct) เช่น วัดค่าสายตาจริงได้ -2.00 ไดออปเตอร์ แต่ให้แว่นแค่ -1.00 หรือ -1.50 ไดออปเตอร์ ซึ่งในอดีตมีความคิดว่า การที่มีสายตาสั้นเพิ่ม แล้วตัดแว่นแก้ไขค่าสายตาแบบเต็ม พอปีถัดมาก็มีการเพิ่มของค่าสายตาอีก แสดงว่า การตัดแว่นที่มีค่าสายตาเพิ่มขึ้นเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ถ้าเราไม่ต้องใส่เพิ่ม จะได้ให้หยุดสายตาสั้นได้หรือไม่ จากงานวิจัยพบว่าการจ่ายแว่นสายตาที่น้อยกว่าค่าสายตาจริงเป็นผลเสีย เนื่องจากทำให้ค่าสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเร็วกว่า เมื่อเทียบกับคนที่ใส่ค่าสายตาเต็ม
- การใช้คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง (RGP lens) โดยเชื่อว่าความแข็งของเลนส์จะไปช่วยหยุดไม่ให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้น แต่จากงานวิจัยพบว่า RGP lens ไม่ได้ช่วยคุมสายตาสั้น แต่กลับทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นเร็วกว่าไม่ใส่เลนส์
- การแว่นตาสองชั้น (Bifocal lens) หรือแว่นตา Progressive lens มาจากข้อสังเกตที่ว่าเมื่อมองใกล้เยอะๆ ทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงพยายามลดการใช้สายตาระยะใกล้หรือลดการเพ่ง (Accommodation) โดยการใส่ค่าสายตาบวกที่เรียกว่า Addition ในการมองใกล้เข้าไปในแว่น เพื่อคลายการเพ่งที่ระยะใกล้ น่าจะทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นช้าลง จากงานวิจัยพบว่าผลของการใช้แว่นตาทั้ง 2 ชนิดนี้ ได้ผลที่ดีกว่าการใช้แว่นสายตาที่ปกติ โดยลดลงเฉลี่ย 18%
ที่มา : https://specscart.co.uk/blog/what-is-the-difference-between-bifocal-and-progressive-lenses
- การใช้ยาคลายการเพ่ง ได้แก่ ยา Pirenzepine ซึ่งอ้างอิงจากการวิจัยที่ใช้แว่นตาสองชั้นเพื่อคลายการเพ่งที่ช่วยทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นช้าลง ซึ่งได้ผลประมาณ 40%
- Ortho-k lens หรือ OK lens เป็นคอนแทคเลนส์ใส่นอน ตื่นเช้ามาแล้วถอดเลนส์ออก และกลางวันมองเห็นชัดขึ้น โดยเป็นทั้งวิธีแก้ไขและควบคุมสายตาสั้น ซึ่งได้ผลประมาณ 42% อนึ่ง การใช้โอเคเลนส์เป็นการควบคุมสายตาสั้นที่ American Academy of Orthokeratology and Myopia control (AAOMC) แนะนำว่ามีความเหมาะสมและปลอดภัยสำหรับเด็ก แต่ต้องดูแลความสะอาดเลนส์อย่างดีเนื่องจากเลนส์ที่สกปรกอาจทำให้ตาอักเสบติดเชื้อได้
ภาพแสดงการใช้ OK lens ที่ทำให้กระจกตาแบนลงขณะหลับ ส่งผลให้แสงโฟกัสบนจอตา เมื่อถอดเลนส์ออกตอนเช้าก็สามารถมองเห็นได้ชัดโดยไม่ต้องใส่แว่น
ที่มา : https://visionspace.com.my/orthok/
- Atropine เป็นยาคลายการเพ่งที่ได้ผลดีกว่ายา Pirenzepine จากการทดลองพบว่าได้ผลดีที่สุดประมาณ 76% แต่เป็นยาที่มีผลข้างหลายอย่าง จึงทำให้ความนิยมลดน้อยลง
ในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้ว่าวิธีใดดีที่สุด เพราะตอนนี้เรามองในเรื่องของประสิทธิภาพ แต่เรื่องผลข้างเคียงและความยากง่ายในการใช้ยังไม่มีการกล่าวถึง ซึ่งวิธีต่างๆที่กล่าวมาทั้งหมดยังไม่มีวิธีไหนที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน การที่จะทราบได้ว่าวิธีไหนเหมาะสมกับเรา ควรได้รับการตรวจจากผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากคนเราทุกคนมีความต้องการที่แตกต่างกัน
Reference
- Smith EL 3rd. Prentice Award Lecture 2010: A case for peripheral optical treatment strategies for myopia. Optom Vis Sci. 2011;88(9):1029-1044. doi:10.1097/OPX.0b013e3182279cfa