วิธีการจัดการสายตาสั้น มีวิธีการอะไรบ้าง แล้วเราควรทำวิธีไหนดี?
เมื่อสายตาสั้นแล้ว หลายๆคนมักคิดว่าตัดแว่นแล้วมองเห็นชัดก็จบ ถ้าค่าสายตาเปลี่ยน ก็มาตัดแว่นอันใหม่ แต่อันที่จริงแล้วเรื่องการจัดการสายตาสั้นไม่ได้มีเพียงแค่การใส่แว่น แต่ยังมีวิธีทางเลือกอื่นๆอีกที่สามารถเลือกจัดการกับสายตาสั้นได้ โดยในบทควานนี้แบ่งการจัดการสายตาสั้นออกเป็น 3 อย่างดังนี้
- การแก้ไขสายตาสั้น (Myopia correction) คือ วิธีที่ทำให้มองเห็นชัดขึ้น เหมาะกับคนที่สายตาสั้นคงที่แล้ว โดยสายตาสั้นที่มีอยู่ เมื่อผ่านไปอย่างน้อย 1 ปี ไม่มีการแปลี่ยนแปลงของค่าสายตา ซึ่งวิธีที่เราทำกันในปัจจุบันประมาณ 90% เป็นการแก้ไขสายตาสั้น ได้แก่ การใส่แว่นตา, คอนแทคเลนส์, การผ่าตัดแก้ไขสายตา เช่น LASIK, PRK
- ควบคุมสายตาสั้น (Myopia control) คือ การพยายามที่จะชะลอหรือหยุดไม่ให้มีสายตาสั้นเพิ่มขึ้น มีประโยชน์ในคนที่มีค่าสายตาสั้นเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่มีปัญหาสั้นเพิ่มขึ้นและรุนแรงขึ้น เช่น การใช้ยาหยอดลดการเพ่ง, การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ, การใช้เลนส์แว่นตาที่ออกแบบเป็นพิเศษ และการใช้ OK lens (Orthokeratology, Ortho-K) ที่เป็นคอนแทคเลนส์กึ่งนิ่มกึ่งแข็งที่ใส่นอนตอนกลางคืนเพื่อปรับความโค้งของกระจกตา เมื่อตอนเช้าถอดเลนส์ออกสามารถมองเห็นได้ชัด โดยไม่ต้องใส่แว่นสายตา อ่านบทความ : รวมคำถามเลนส์จัดตา (OK lens) (คลิก)
- การป้องกันสายตาสั้น (Myopia prevention) คือ การหยุดไม่ให้สายตาเพิ่มขึ้นหรือมีโอกาสเกิดสายตาสั้นน้อยลง เหมาะกับคนที่สายตาปกติดีอยู่ แต่กลัวจะมีปัญหาสายตาสั้น ได้แก่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม, การใส่แว่นตา และการใช้คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษ