วิธีทำให้สายตาไม่สั้นเพิ่มขึ้น (Myopia control)

วิธีทำให้สายตาไม่สั้นเพิ่มขึ้น (Myopia control)

สายตาสั้น (Myopia)

หมายถึง ปัญหาสายตาที่แสงโฟกัสก่อนถึงจอตา ทำให้การมองเห็นระยะไกลไม่ชัด และสามารถเห็นระยะใกล้ได้ชัดเจนดีกว่า ยิ่งค่าสายตาสั้นมาก มองไกลยิ่งมัวลง

ภาพซ้ายแสดงการมองเห็นปกติ (์Normal vision) ที่แสงตกพอดีบนจอตา ทำให้มองไกลชัด และภาพขวาแสดงแสงที่ตกก่อนจอตา ทำให้มองไกลไม่ชัด เกิดเป็นสายตาสั้น (Myopia)

ที่มา : https://www.gweye.com/blog/2018/03/05/understanding-myopia-symptoms-diagnosis-and-189785

 

ทั้งนี้ จากงานวิจัยพบว่า สายตาสั้นเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากแสงบริเวณริมโฟกัสเลยลูกตาออกไป (Peripheral hyperopic defocus) ทำให้ลูกตาต้องยืดขยายออกมารับแสงส่วนใหญ่ (กระบอกตายาวขึ้น) ทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้น

ภาพแสดงแสงบริเวณริมโฟกัสเลยลูกตาออกไป (Peripheral hyperopic defocus) ที่ทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้น

ที่มา : http://www.cvs.rochester.edu/yoonlab/research/mpc.html

เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองทราบว่าบุตรหลานของท่านมีสายตาสั้นก็คงจะมีคความกังวลใจไม่น้อย และเกรงว่าในอนาคตสายตาจะยิ่งสั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอีก ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพหรือการทำกิจกรรมต่างๆในอนาคต เช่น นักบิน แอร์โฮสเตจ ตำรวจ ทหาร หรือการเล่นกีฬา เป็นต้น

ในวันนี้เรามีวิธีที่ทำให้สายตาไม่สั้นเพิ่มขึ้นมากบอก เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในควบคุมสายตาสั้นไม่ให้เพิ่มขึ้น หรือเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

วิธีที่ทำให้สายตาไม่สั้นเพิ่มขึ้น มี 6 วิธี ดังต่อไปนี้

  1. การให้แว่นสายตาที่น้อยกว่าค่าสายตาจริง (Under correct) เช่น วัดค่าสายตาจริงได้ -2.00 ไดออปเตอร์ แต่ให้แว่นแค่ -1.00 หรือ -1.50 ไดออปเตอร์ ซึ่งในอดีตมีความคิดว่า การที่มีสายตาสั้นเพิ่ม แล้วตัดแว่นแก้ไขค่าสายตาแบบเต็ม พอปีถัดมาก็มีการเพิ่มของค่าสายตาอีก แสดงว่า การตัดแว่นที่มีค่าสายตาเพิ่มขึ้นเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ถ้าเราไม่ต้องใส่เพิ่ม จะได้ให้หยุดสายตาสั้นได้หรือไม่ จากงานวิจัยพบว่าการจ่ายแว่นสายตาที่น้อยกว่าค่าสายตาจริงเป็นผลเสีย เนื่องจากทำให้ค่าสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเร็วกว่า เมื่อเทียบกับคนที่ใส่ค่าสายตาเต็ม
  2. การใช้คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง (RGP lens) โดยเชื่อว่าความแข็งของเลนส์จะไปช่วยหยุดไม่ให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้น แต่จากงานวิจัยพบว่า RGP lens ไม่ได้ช่วยคุมสายตาสั้น แต่กลับทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นเร็วกว่าไม่ใส่เลนส์

ที่มา : https://myvision.org/contacts/rgp-lenses/

  1. การแว่นตาสองชั้น (Bifocal lens) หรือแว่นตา Progressive lens มาจากข้อสังเกตที่ว่าเมื่อมองใกล้เยอะๆ ทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงพยายามลดการใช้สายตาระยะใกล้หรือลดการเพ่ง (Accommodation) โดยการใส่ค่าสายตาบวกที่เรียกว่า Addition ในการมองใกล้เข้าไปในแว่น เพื่อคลายการเพ่งที่ระยะใกล้ น่าจะทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นช้าลง จากงานวิจัยพบว่าผลของการใช้แว่นตาทั้ง 2 ชนิดนี้ ได้ผลที่ดีกว่าการใช้แว่นสายตาที่ปกติ โดยลดลงเฉลี่ย 18%

ที่มา : https://specscart.co.uk/blog/what-is-the-difference-between-bifocal-and-progressive-lenses

  1. การใช้ยาคลายการเพ่ง ได้แก่ ยา Pirenzepine ซึ่งอ้างอิงจากการวิจัยที่ใช้แว่นตาสองชั้นเพื่อคลายการเพ่งที่ช่วยทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นช้าลง ซึ่งได้ผลประมาณ 40%
  2. Ortho-k lens หรือ OK lens เป็นคอนแทคเลนส์ใส่นอน ตื่นเช้ามาแล้วถอดเลนส์ออก และกลางวันมองเห็นชัดขึ้น โดยเป็นทั้งวิธีแก้ไขและควบคุมสายตาสั้น ซึ่งได้ผลประมาณ 42% อนึ่ง การใช้โอเคเลนส์เป็นการควบคุมสายตาสั้นที่ American Academy of Orthokeratology and Myopia control (AAOMC)  แนะนำว่ามีความเหมาะสมและปลอดภัยสำหรับเด็ก แต่ต้องดูแลความสะอาดเลนส์อย่างดีเนื่องจากเลนส์ที่สกปรกอาจทำให้ตาอักเสบติดเชื้อได้

ภาพแสดงการใช้ OK lens ที่ทำให้กระจกตาแบนลงขณะหลับ ส่งผลให้แสงโฟกัสบนจอตา เมื่อถอดเลนส์ออกตอนเช้าก็สามารถมองเห็นได้ชัดโดยไม่ต้องใส่แว่น

ที่มา : https://visionspace.com.my/orthok/

  1. Atropine เป็นยาคลายการเพ่งที่ได้ผลดีกว่ายา Pirenzepine จากการทดลองพบว่าได้ผลดีที่สุดประมาณ 76% แต่เป็นยาที่มีผลข้างหลายอย่าง จึงทำให้ความนิยมลดน้อยลง

ในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้ว่าวิธีใดดีที่สุด เพราะตอนนี้เรามองในเรื่องของประสิทธิภาพ แต่เรื่องผลข้างเคียงและความยากง่ายในการใช้ยังไม่มีการกล่าวถึง ซึ่งวิธีต่างๆที่กล่าวมาทั้งหมดยังไม่มีวิธีไหนที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน การที่จะทราบได้ว่าวิธีไหนเหมาะสมกับเรา ควรได้รับการตรวจจากผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากคนเราทุกคนมีความต้องการที่แตกต่างกัน


Reference

  • Smith EL 3rd. Prentice Award Lecture 2010: A case for peripheral optical treatment strategies for myopia. Optom Vis Sci. 2011;88(9):1029-1044. doi:10.1097/OPX.0b013e3182279cfa

แชร์ไปที่ :

บทความอื่นๆ

ติดต่อนัดหมาย