คุณพ่อพาน้องแมกซ์ (นามสมมุติ) อายุ 14 ปี มาตรวจสายตา เนื่องจากน้องมองเห็นไม่ชัด จากการตรวจสายตาอย่างคร่าวๆด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ พบว่าน้องแมกซ์มีสายตาสั้นเล็กน้อย ประมาณ -0.75 D ทั้งสองข้าง เมื่อให้น้องแมกซ์ลองอ่านตัวเลขดูด้วยตาเปล่า น้องบอกว่ามองไม่เห็นอ่านไม่ได้แม้กระทั่งตัวเลขที่ 20/100 (ซึ่งจริงๆแล้ว ตัวเลขระดับนี้ เด็กสายตาสั้นเล็กน้อยประมาณ -0.75 D ต้องอ่านได้อย่างไม่มีปัญหา) ทางร้านจึงตรวจสายตาอย่างละเอียดด้วยเครื่อง Retinoscope ปรากฏว่าน้องมีค่าสายตาน้อยมากประมาณ -0.25 D ทั้งสองข้าง และเมื่อให้ลองใส่แว่นตาตามค่าที่ตรวจได้ พบว่าน้องสามารถอ่านตัวหนังสือ 20/20 ได้
แว่นแฟชั่นสมัยใหม่ อาจทำให้เด็กบางคนอยากใส่แว่น ปัจจุบันแว่นตากลายเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งไปแล้ว สังเกตุเห็นได้ว่าเด็กบางคนใส่แว่นตาแฟชั่นไม่มีเลนส์ หรือมีเลนส์ที่ไม่มีค่าสายตา เด็กบางคนพยายามหาเหตุผลเพื่อให้ได้ใส่แว่นตา ประกอบกับเครื่องวัดสายตาส่วนใหญ่มักวัดค่าสายตาเด็กออกมาสั้นเกินจริง ทำให้เด็กต้องใส่แว่นสายตาทั้งที่ไม่จำเป็น
จากผลการตรวจ ทางร้านได้เรียนผู้ปกครองของน้องแมกซ์ว่า จริงๆแล้วน้องแมกซ์มีค่าสายตาสั้นน้อยมาก และการใส่แว่นสายตาจะทำให้น้องแมกซ์มองวัตถุระยะไกลได้ชัดเจนขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้อาจใส่หรือไม่ใส่แว่นก็ได้ สำหรับการที่น้องแมกซ์บอกว่ามองเห็นไม่ชัดน่าจะเป็นเพราะว่าอยากใส่แว่นเหมือนเพื่อน นอกจากนั้น ทางร้านได้แนะนำเพิ่มเติมว่าควรพาน้องแมกซ์มาตรวจสายตาอย่างน้อยทุกๆ 6 เดือนเนื่องจากวัยนี้เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงค่าสายตาได้รวดเร็ว และถ้าค่าสายตาเพิ่มมากกว่านี้อีกเล็กน้อย อาจถึงเวลาที่น้องแมกซ์จำเป็นต้องใส่แว่นจริงๆแล้ว
บ่อยครั้งที่พบว่า เด็กที่มีสายตาปกติบางคนอยากใส่แว่น และผลตรวจจากเครื่องคอมพิวเตอร์ มักให้ค่าไปในทางสายตาสั้นมากเกินจริง ดังนั้นถ้าร้านใช้ค่าที่วัดได้จากคอมพิวเตอร์มาตัดแว่น เด็กอาจต้องใส่เลนส์สายตาสั้นโดยไม่จำเป็น ซึ่งเป็นผลเสียต่อตาเด็ก เนื่องจากเลนส์สายตาสั้นเกินจริง (Over minus) จะทำให้เด็กต้องใช้กำลังการเพ่ง (Accommodation) มากกว่าปกติ ทำให้ตาล้าได้ง่าย ข้อสำคัญอีกอย่างคือ ในเด็กที่มีค่า AC/A ratio สูง การให้เด็กใส่แว่น Over minus อาจทำให้เด็กเป็นตาเขเข้าในเนื่องจากการเพ่ง (Accommodative Esotropia) ซึ่งถ้าใส่แว่นเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เด็กมีตาเขถาวรได้ในอนาคต