กระจกตาโป่งพอง (ATL012)

กระจกตาโป่งพอง (ATL012)

กระจกตาโป่งพอง (Keratoconus) 

            กระจกตาโป่งพอง คือการที่กระจกตาบางส่วนมีการนูนตัวขึ้นมา ทำให้กระจกตามีความผิดปกติ สาเหตุเนื่องจากบางส่วนของกระจกตาเกิดการบางตัวลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ความดันภายในลูกตา ดันกระจกตาส่วนที่บางให้นูนขึ้นมา ถ้ากระจกตาส่วนที่นูนขึ้นมามีลักษณะเป็นยอดแหลมจะเรียกว่า Keratoconus ถ้ากระจกตานูนขึ้นมามีลักษณะเป็นรูปทรงกลม จะเรียกว่า Keratoglobus หรือถ้านูนขึ้นมาเฉพาะบริเวณขอบตาดำ จะเรียกว่า Pellucid Marginal Degeneration (PMD)

สาเหตุการเกิดกระจกตาโป่งพองยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด คาดว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องจากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม การอักเสบของตา การขยี้ตาบ่อย หรือบางครั้งเกิดหลังจากการทำการผ่าตัดแก้ไขค่าสายตา (LASIK, PRK, ReLEx) เป็นต้น

รูปภาพแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างกระจกตาปกติและกระจกตาโป่ง

 

ที่มา : https://www.eyedolatryblog.com/2017/05/keratoconus-is-much-more-prevalent-than.html

หลายๆคนอาจสงสัยว่าแท้จริงแล้ว Keratoconus มีชื่อภาษาไทยว่าอะไรกันแน่ ซึ่งจริงๆแล้วชื่อภาษาไทยของโรค Keratoconus นั้นมีหลายชื่อมาก ผมจะยกตัวอย่างชื่อภาษาไทยที่นิยมเรียกในโรคนี้ ว่ามีชื่ออะไรบ้างนะครับ มีดังนี้

  1. กระจกตาโป่งพอง
  2. กระจกตาย้วย (บางครั้งจะใช้เรียกคนไข้ที่เป็นโรค Pellucid Marginal Degeneration (PMD) ด้วย ซึ่งจะแตกต่างจาก Keratoconus ที่ตำแหน่งของกระจกตาที่บางและโป่งออกมา ดังนี้)
  • ผู้ป่วย Keratoconus กระจกตาจะโป่งบริเวณตรงกลางกระจกตา หรืออาจจะค่อนมาทางด้านล่างเล็กน้อย แต่จะไม่อยู่ชิดขอบตาดำ
  • ผู้ป่วย PMD กระจกตาจะโป่งบริเวณขอบตาดำ
  • โรค Keratoconus และ PMD มีอาการมองเห็นไม่ชัดเหมือนกัน และวิธีการแก้ไขคล้ายกัน

รูปภาพแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง Keratoconus และ PMD (Pellucid Marginal Degeneration)

ที่มา : https://www.eyesofnm.com/2021/06/15/differences-between-keratoconus-and-pellucid-marginal-degeneration/

สีที่แตกต่างกันบ่งบอกถึงความโค้งที่ไม่เท่ากันของกระจกตา ซึ่งสีแดงค่อนไปทางสีม่วงคือบริเวณที่กระจกตาโป่งออกมา

  1. กระจกตาโป่ง หรือ กระจกตาโก่ง
  2. กระจกตารูปกรวย
  3. กระจกตาโปน
  4. กระจกตาผิดรูป
  5. กระจกตาโค้งผิดรูป

กระจกตาโป่งพอง (Keratoconus) มีอาการและการมองเห็นอย่างไร

ผู้ที่เป็นกระจกตาโป่งพอง ถ้าเป็นไม่มาก อาจมีอาการเหมือนผู้ที่มีปัญหาสายตาเอียง คือ ตาจะมัว เมื่อใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์แล้วจะทำให้อาการดีขึ้น สำหรับอาการที่รุนแรงขึ้นอาจรู้สึกว่าสายตามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะค่าสายตาเอียง อาการตามัวจะมากขึ้นในเวลากลางคืน อาจสังเกตเห็นวัตถุชิ้นเดียวแยกเป็นหลายชิ้นเหมือนมีเงาซ้อน เมื่อใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์แล้วก็ยังรู้สึกไม่พอใจกับการมองเห็นของตน กระจกตาโป่งพองส่วนใหญ่มักเป็นทั้งสองตาโดยเกิดกับตาข้างหนึ่งก่อนและอีกข้างหนึ่งเป็นตามมาทีหลัง โดยความรุนแรงของสองข้างมักไม่เท่ากัน คนไข้มักไม่เจ็บตา แต่อาจมีอาการแพ้แสง คันตา รู้สึกหนักตาได้ กระจกตาโป่งพองในรายที่รุนแรงมากอาจทำให้กระจกตาขุ่นมัวลงได้แต่พบได้ไม่บ่อยนัก และกระจกตามักไม่บางตัวลงจนทะลุ

               

 

การมองเห็นในคนปกติ                 

 

 

 การมองเห็นในคนที่เป็นกระจกตาโป่งพองระดับรุนแรง

 

 

ที่มา : https://www.cataractandlaserinstitute.net/keratoconus

กระจกตาโป่งพอง มีวิธีการรักษาและแก้ไขอย่างไร

               การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นเพียงการแก้ไขค่าสายตา ทำให้ผู้ที่เป็นสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน สาเหตุที่ทำให้ผู้เป็นโรคกระจกตาโป่งพองมองเห็นไม่ชัดเจน เกิดจากสองสาเหตุหลักคือ ปัญหาสายตา และปัญหากระจกตาบิดเบี้ยว ดังนั้น การแก้ไขปัญหาสายตาเพียงอย่างเดียวจึงไม่ทำให้การมองเห็นชัดเจนเต็มที่ วิธีแก้ไขการมองเห็นสำหรับกระจกตาโป่งพอง อาจจำแนกตามลักษณะการแก้ไขได้ดังนี้

  1. วิธีที่แก้ไขค่าสายตา แต่ไม่ได้แก้ไขกระจกตาบิดเบี้ยว (การมองเห็นอาจชัดเจนขึ้นเล็กน้อย)

การแก้ไขดังกล่าวทำให้การมองเห็นคมชัดขึ้นบางส่วน โดยอาจยังมองเห็นภาพหรือตัวหนังสือเป็นเงาซ้อนหรือบิดเบี้ยวเนื่องจากกระจกตาที่บิดเบี้ยวยังไม่ถูกแก้ไข โดยความชัดเจนในการมองเห็นขึ้นกับความรุนแรงของกระจกตาโป่งพอง สำหรับผู้ที่กระจกตาโป่งพองไม่มาก อาจพอใจกับการแก้ไขวิธีเหล่านี้ เทคนิคต่างๆเหล่านี้ ได้แก่ การใช้แว่นตา การผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (Implantable Contact Lens, ICL) หรือการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาสำหรับผู้ที่มีปัญหาต้อกระจกร่วมด้วย

รูปแสดงการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL) ด้านหลังม่านตา

 

ที่มา : https://www.carlinvision.com/lasik/phakic-implantable-collamer-lens/

 

รูปแสดงการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL) ด้านหน้าม่านตา

 

 

ที่มา : https://www.ophtec.com/about-artilens/artilens

 

รูปภาพแสดงการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม (IOL) สำหรับผู้ที่มีปัญหาต้อกระจก (เลนส์ตาขุ่นตัว) ร่วมด้วย

ที่มา : https://retinavitreous.com/treatments/dislocated_iol.php

 

2. วิธีที่แก้ไขค่าสายตา และแก้ไขกระจกตาบิดเบี้ยวบางส่วน (การมองเห็นชัดเจนขึ้นปานกลาง)

การแก้ไขดังกล่าว เป็นทั้งการแก้ไขสายตา และแก้ไขกระจกตาบิดเบี้ยวบางส่วน ทำให้การมองเห็นชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ดี วิธีดังกล่าวนี้ไม่สามารถแก้ไขกระจกตาที่บิดเบี้ยวได้ทั้งหมด จึงทำให้การมองเห็นยังมีเงาซ้อนหรือภาพบิดเบี้ยวอยู่บ้าง วิธีการต่างๆมีดังนี้

  • การใช้คอนแทคเลนส์นิ่ม (Soft Contact Lens) ที่มีค่าสายตาเอียงที่มีขายตามท้องตลาด หรือถ้าค่าสายตาเอียงมากอาจตัดคอนแทคเลนส์นิ่มเฉพาะบุคคลได้ คอนแทคเลนส์นิ่มจะช่วยแก้ไขสายตาและแก้ไขความบิดเบี้ยวของกระจกตาได้บางส่วน ทำให้เห็นได้ชัดเจนขึ้น
  • การผ่าตัดใส่ห่วงในกระจกตา (INTACS) (ห่วงพลาสติกครึ่งวงกลม สอดเข้าระหว่างชั้นของกระจกตา) สามารถแก้ไขกระจกตาบิดเบี้ยวได้บางส่วน หลังแก้ไขอาจต้องใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ช่วยเพื่อทำให้มองเห็นได้คมชัดมากขึ้น งานวิจัยของ Colin พบว่า ค่าความชัดเจนของคนไข้เมื่อแก้ไขด้วยแว่นตา ก่อนใส่ INTACS มองเห็นได้ชัดเจนเฉลี่ย 40% ของคนปกติ (VA 20/50) หลังใส่ INTACS ความชัดเจนเฉลี่ยดีขึ้นเป็น 60% ของคนปกติ (VA 20/32) ถึงแม้ INTACS จะไม่สามารถแก้ไขสายตาได้หมด แต่ก็มีข้อดีหลายอย่างคือ สามารถผ่าตัดถอดออกได้ถ้าต้องการเปลี่ยนในกรณีที่กระจกตาโป่งพองมากขึ้น ทำให้มองเห็นได้ดีขึ้นเมื่อไม่ใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ นอกจากนี้ INTACS ยังทำให้ใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม หรือ RGP ชนิด Corneal Lens ง่ายขึ้น และยังสามารถใช้ร่วมกับ RGP ชนิด Scleral Lens เพื่อเพิ่มความชัดเจนของการมองเห็นได้อีกด้วย

 

INTACS rings

 

 

 

 

 

ที่มา : https://www.allaboutvision.com/conditions/inserts.htm

รูปภาพแสดงให้เห็นถึงกระจกตาหลังใส่ INTACS rings

 

 

 

 

 

 

ที่มา : https://avtt-tt.com/grenada/laser-intacs-implantation-keratoconus/

หลังจากใส่ Ferrara Ring แล้ว ถ้าต้องการให้มองเห็นชัดเจนขึ้น ก็สามารถใส่ Scleral lens ได้

รูปภาพแสดงให้เห็นถึงกระจกตาที่ใส่ Intacs หรือ Ferrara ring และแก้ไขการมองเห็นด้วยคอนแทคเลนส์กึ่งแข็งกึ่งนิ่มที่มีขนาดใหญ่กว่าตาดำ (Scleral lens)

 

 

 

 

 

ที่มา : http://thesclerallenscenter.com/intacs/

  • การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา (Penetrating Keratoplasty, Corneal Transplant, Corneal Graft) ส่วนมากแพทย์จะพิจารณาผ่าตัดสำหรับผู้ที่มีปัญหากระจกตาขุ่นตัวและบดบังรูม่านตา ทำให้การมองเห็นแย่ลง การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา ถึงแม้ว่ากระจกตาของผู้บริจาคจะเรียบและสมบูรณ์ หรือการผ่าตัดกระจกตาจะเย็บแผลได้สมบูรณ์แล้ว มักพบว่ากระจกตาที่เปลี่ยนจะมีความไม่สม่ำเสมอเล็กน้อยทำให้เกิดค่าสายตาเอียงตามมา (เปรียบได้กับการผ่าเอาเนื้อจากที่หนึ่งมาแปะอีกที่หนึ่ง ไม่ว่าหมอจะเย็บแผลเก่งขนาดไหนก็จะยังมีรอยแผลเป็นให้เห็นอยู่ดี นอกจากนั้นกระจกตาของแต่ละคนก็มีความหนาไม่เท่ากัน มีลักษณะเนื้อเยื่อที่แตกต่างกันไป รวมทั้งการรักษาแผลของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา) อย่างไรก็ดี หลังจากแผลที่กระจกตาหายดีแล้ว ปัญหาสายตาและกระจกตาบิดเบี้ยวที่ยังคงเหลืออยู่ ก็สามารถใช้คอนแทคเลนส์แก้ไขให้การมองเห็นชัดเจนขึ้นได้

รูปภาพแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนกระจกตาที่ขุ่น

 

 

 

 

 

 

ที่มา : https://www.freeholdeye.com/cornea-new-jersey/corneal-abrasion-and-transplantation/

รูปภาพแสดงให้เห็นถึงการใส่ Scleral Lens ในผู้ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา (corneal transplant) มาแล้ว

ที่มา :https://www.lasikcomplications.com/corneal-transplant.htm

 3. วิธีที่แก้ไขค่าสายตา และแก้ไขกระจกตาบิดเบี้ยวทั้งหมด (การมองเห็นชัดเจนสูงสุด)

ในปัจจุบันยังไม่มีการผ่าตัดวิธีการใดที่สามารถแก้ไขความบิดเบี้ยวของกระจกตาให้กลับมาปกติได้ โดยวิธีที่สามารถแก้ไขให้การมองเห็นกลับมาชัดเจนเป็นปกติมากที่สุด คือ การใช้คอนแทคเลนส์ชนิดกึ่งนิ่มกึ่งแข็ง (Rigid Gas Permeable Contact Lens, RGP) โดยเมื่อผิวกระจกตาที่บิดเบี้ยว ถูกปิดด้วยคอนแทคเลนส์ RGP ที่มีผิวเรียบสม่ำเสมอ ผิวด้านหน้าของคอนแทคเลนส์จะทำหน้าที่หักเหแสงแทนกระจกตาเดิมที่บิดเบี้ยว ทำให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนเทียบเท่าคนปกติ การใช้คอนแทคเลนส์ RGP นับเป็นการแก้ไขที่นิยมใช้มากที่สุดกับโรคกระจกตาโป่งพอง จากงานวิจัยพบว่าผู้เป็นกระจกตาโป่งพองถึง 90% เหมาะกับการแก้ไขด้วยคอนแทคเลนส์ ในปัจจุบันคอนแทคเลนส์ RGP ได้ถูกพัฒนาให้ใส่ได้สบายมากขึ้น ประเภทของคอนแทคเลนส์ RGP ที่ใช้แก้ไขกระจกตาโป่งพองจำแนกได้เป็น 3 แบบ ได้แก่

  • คอร์เนียเลนส์ (Corneal Lens) คือ คอนแทคเลนส์ RGP ที่มีขนาดเล็กกว่าตาดำ เหมาะสำหรับกระจกตาโป่งพองที่ยังมีอาการไม่รุนแรงมากนัก Corneal Lens ยังแบ่งย่อยได้เป็นหลายชนิดขึ้นกับการออกแบบผิวด้านหลัง เช่น Spherical Base curve RGP, Aspheric BC, RoseK ฯลฯ แต่ถ้าใช้เลนส์ดังกล่าวแล้วยังมีอาการระคายเคืองตา เลนส์หลุดง่าย เดี๋ยวมัวเดี๋ยวชัดเนื่องจากมีฟองอากาศอยู่ใต้เลนส์ หรือเกิดรอยแผลที่กระจกตา ฯลฯ ควรเปลี่ยนไปใช้เลนส์ที่ใหญ่ขึ้น

 

ที่มา : https://www.reviewofcontactlenses.com/article/combining-optics-and-comfort-piggyback-and-hybrid-lenses

รูปภาพแสดงให้เห็นถึงการใช้ Corneal Lens กับกระจกตาโป่งพอง กระจกตาส่วนที่โป่งพองออกมาจะสัมผัสกับผิวหลังของคอนแทคเลนส์เล็กน้อย ซึ่งถ้าใส่เลนส์เป็นระยะเวลานาน มักพบว่าส่วนยอดของกระจกตาที่โป่งพองจะเกิดการขุ่นตัวเนื่องจากการเสียดสีกับผิวหลังของเลนส์ทุกครั้งที่กระพริบตา

  • สเคลอรัลเลนส์ (Scleral Lens) คือ คอนแทคเลนส์ RGP ที่มีขนาดใหญ่กว่าตาดำ เลนส์ที่ประกอบอย่างถูกต้องจะไม่มีส่วนใดของเลนส์สัมผัสโดนกระจกตา ทำให้ลดโอกาสการเกิดรอยแผลเป็น โดยเฉพาะที่ส่วนยอดของกระจกตาที่นูนขึ้นมา ใส่แล้วรู้สึกเคืองตาน้อยกว่า Corneal Lens นอกจากนี้ Scleral Lens ยังมีขนาดใหญ่ทำให้ไม่หลุดง่าย ทนทาน ใช้ได้นานหลายปี และยังใช้ได้ดีกับผู้ที่มีปัญหาตาแห้งอีกด้วย ผู้ที่ผ่าตัดใส่ Intacs ก็สามารถใช้ Scleral Lens เพื่อแก้ไขให้การมองเห็นดีขึ้นได้ หรือผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตากรณีที่ยังไม่ตัดไหม Scleral Lens ยังช่วยลดการระคายเคืองจากไหมเมื่อกระพริบตาได้อีกด้วย โดยการใช้เลนส์จะไม่ทำอันตรายต่อแผลผ่าตัด เนื่องจากผิวหลังของ Scleral Lens จะไม่สัมผัสถูกส่วนใดของกระจกตา (ตาดำ) เพราะว่าเลนส์วางอยู่บนตาขาว

รูปภาพแสดงให้เห็นถึงการใส่ Scleral Lens ตัวคอนแทคเลนส์จะวางอยู่บนตาขาวทำให้ผิวเลนส์ด้านหลังไม่สัมผัสโดนกระจกตา ลดโอกาสการเกิดกระจกตาขุ่นตัวลงเมื่อเทียบกับการใช้ Corneal Lens

  • ไฮบริดเลนส์ (Hybrid Lens) คือ คอนแทคเลนส์ชนิดลูกผสม ที่บริเวณกลางเลนส์ทำจากวัสดุคอนแทคเลนส์ RGP และขอบเลนส์ทำจากวัสดุคอนแทคเลนส์นิ่ม เพื่อเพิ่มความสบายในการใส่ ทำให้ใส่สบายขึ้นเมื่อเทียบกับ Scleral Lens โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีต้อลมอยู่ที่ตาขาว หรือตาขาวไม่กลม อายุการใช้งานของเลนส์ชนิดนี้ประมาณ 6-12 เดือน

การใช้ Hybrid Lens บริเวณกึ่งกลางเลนส์เป็นวัสดุชนิดกึ่งนิ่มกึ่งแข็ง และขอบเลนส์เป็นวัสดุชนิดนิ่ม เพื่อเพิ่มความสบายตาในขณะที่ใส่เลนส์

การเลือกใช้คอนแทคเลนส์ที่เหมาะสมร่วมกับความเชี่ยวชาญในการประกอบคอนแทคเลนส์ สามารถทำให้ผู้เป็นกระจกตาโป่งพองระดับปานกลางและรุนแรง (ที่กระจกตายังไม่ขุ่นตัว) กลับมามองเห็นได้อย่างชัดเจนและสบายตาได้ เมื่อเคยชินกับการใช้เลนส์แล้ว

รูปภาพคอนแทคเลนส์ชนิดกึ่งนิ่มกึ่งแข็ง ชนิด Scleral Lens (ขวา) และ Corneal Lens (ซ้าย)

ทำไมจึงไม่ควรผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาให้กับผู้ป่วยทุกรายที่เป็นกระจกตาโป่งพอง

การเปลี่ยนกระจกตามีอุปสรรคมากมาย เช่น กระจกตาที่ได้รับบริจาคมีไม่เพียงพอกับผู้ที่ต้องการกระจกตา ดังนั้น ทำให้ต้องเข้าคิวรอข้ามปีกว่าจะได้กระจกตา เมื่อเปลี่ยนกระจกตาแล้วบางครั้งร่างกายของผู้รับเกิดการต่อต้านกระจกตาจากผู้อื่น เนื่องจากไม่ใช่อวัยวะของตนเองและทำให้ต้องเปลี่ยนกระจกตาใหม่ กระจกตาที่เปลี่ยนสำเร็จอาจอยู่ได้เป็นระยะเวลานานหลายปีหรือบางรายอาจใช้งานได้เพียงไม่กี่เดือนก็ต้องเปลี่ยนใหม่ หลังจากเปลี่ยนกระจกตาแล้วหลายรายยังคงต้องใช้คอนแทคเลนส์อยู่ เป็นต้น ดังนั้นถ้ากระจกตาโป่งพองยังไม่มีความรุนแรงมาก จักษุแพทย์มักจะไม่แนะนำให้เปลี่ยนกระจกตา ดังนั้น การเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนกระจกตา จึงควรฟังคำแนะนำของจักษุแพทย์และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

กระจกตาโป่งพอง (Keratoconus) และกระจกตาไม่เรียบ (Irregular Cornea) ต่างกันอย่างไร

กระจกตาโป่งพองเป็นส่วนหนึ่งของกระจกตาไม่เรียบ ซึ่งกระจกตาไม่เรียบนั้นมีอย่างอื่นอีกมากมาย เช่น กระจกตาขุ่น หรือแผลเป็นที่กระจกตา เป็นต้น เพียงแต่กระจกตาโป่งพองเป็นโรคที่พบได้บ่อย จึงมีการพูดถึงบ่อยนั่นเอง

จะทราบได้หรือไม่ว่ากระจกตาโป่งพองจะมีความรุนแรงขนาดไหน / หากเป็นอยู่แล้วจะเป็นเพิ่มขึ้นหรือไม่ ?

ในปัจจุบันไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่า กระจกตาโป่งพองจะมีความรุนแรงเพียงใดในผู้ป่วยแต่ละราย แต่จากข้อมูลสถิติ พบว่าผู้ที่เป็นกระจกตาโป่งพองครั้งแรกเมื่ออายุน้อย (เช่น 12 ปี) มีโอกาสที่จะเกิดกระจกตาโป่งพองรุนแรงมากกว่าผู้ที่เริ่มเป็นเมื่ออายุมาก (เช่น 30 ปี)

สำหรับการเป็นเพิ่มขึ้นของกระจกตาโป่งพองจะมีลักษณะเป็นช่วงๆ เช่น หลังจากการเป็นครั้งแรกแล้วนั้นความโป่งพองอาจจะคงที่โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกตลอดชีวิต หรือคงที่สักช่วงเวลาหนึ่ง (เช่น 6 เดือน หรือ 3 ปี) แล้วมีการโป่งพองเพิ่มขึ้นอีกรอบหรืออีกหลายรอบ โดยปัจจุบันไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกหรือไม่หรือเมื่อไหร่


อ้างอิง
  1. http://www.keratoconus.com/resources/Intacs+Inserts+for+Treating+Keratoconus.pdf
ข้อมูลเพิ่มเติม
  1. https://www.facebook.com/AllAboutEyebyRCOPT/posts/867359913381249/

แชร์ไปที่ :

บทความอื่นๆ

ติดต่อนัดหมาย