การจัดการปัญหาสายตาสั้น(Myopia Management) มีมากกว่า ตัดแว่นหรือใส่คอนแทคเลนส์
องค์ความรู้ระดับนานาชาติ การจัดการสายตาสั้นมีการทำอย่างครอบคลุม ทั้งการแก้ไขสายตาสั้น(Myopia Correction) การควบคุมสายตาสั้น(Myopia Control) และการป้องกันสายตาสั้น (Myopia Prevention) และการผ่าตัดรักษาสายตาสั้น(Myopic Refractive Surgery) ดังนี้
ปัญหาสายตาสั้นเป็นปัญหาระดับโลกที่มีความรุนแรกขึ้นเรื่อยๆ ในบางประเทศนักเรียนมีปัญหาสายตาสั้นสูงถึงกว่า 90%
http://www.chinadaily.com.cn/a/201809/07/WS5b920c02a31033b4f4654d7c.html
การแก้ไขสายตาสั้น (Myopia Correction)
คือการทำให้คนสายตาสั้นมองเห็นชัดขึ้น โดยการใช้แว่นสายตา หรือคอนแทคเลนส์ โดยวิธีนี้เหมาะกับผู้ที่สายตาสั้นคงที่แล้ว ทำให้ผู้มีสายตาสั้นมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ดี วิธีใช้แว่นหรือคอนแทคเลนส์ทั่วๆไปไม่ในผู้ที่สายตาสั้นเพิ่มขึ้นทุกปี
การควบคุมสายตาสั้น (Myopia Control)
คือการชลอหรือหยุดไม่ให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้น สามารถทำได้หลายวิธีเช่น การใช้โอเคเลนส์ การใช้ยา คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษ หรือเลนส์แว่นตาชนิดที่มีโครงสร้างเพื่อคุมสายตาสั้นโดยเฉพาะ โดยวิธีนี้เหมาะกับผู้ที่สายตาสั้นอยู่แล้ว แต่สายตาสั้นยังเพิ่มขึ้นทุกปี การควบคุมสายตาสั้นมีประโยชน์หลายอย่างเช่น ทำให้ไม่ต้องใส่แว่นหนาเมื่อโตขึ้น เพิ่มโอกาสการรักษาสายตาด้วยวิธีการผ่าตัดเช่นเลสิก(ยิ่งสายตาสั้นเยอะยิ่งมีโอกาสที่จะแก้ไขได้ไม่หมด) ลดความเสี่ยงการเป็นโรคตาต่างๆเช่น ต้อหิน จอตาเสื่อม จอตาฉีกขาดหลุดลอก , เพิ่มโอกาสในการเลือกอาชีพ(บางอาชีพห้ามสายตาสั้นเกินเกณฑ์เช่น นักบิน ทหาร ตำรวจ), ประหยัดเงินเพราะว่ายิ่งค่าสายตาสูงเลนส์ยิ่งมีราคาแพง ฯลฯ(อ่านเพิ่มเติม รวมคำถามการควบคุมสายตาสั้น)
จากกราฟ แสดงการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้น ในเด็กที่เริ่มมีสายตาสั้น -1.00 ตอนอายุ 6 ขวบ ##เส้นสีฟ้า ถ้าสายตาน้องคงที่ไม่เพิ่มขึ้นเลย ตอนอายุ 16 ปีน้องจะสายตาสั้น -1.00 ไดออปเตอร์เหมือนเดิม ##เส้นสีม่วง ถ้าสายตาน้องสั้งเพิ่มขึ้นปีละเพียง 0.50 ไดออปเตอร์ ตอนอายุ 16 ปีน้องจะสายตาสั้น -6.00 ไดออปเตอร์ ซึ่งสายตาสั้นระดับนี้งานวิจัยพบว่าทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคตาต่างๆเพิ่มขึ้น เช่น จอตาฉีกขาดหลุดลอก ต้อหิน จอตาเสื่อม ฯลฯ ซึ่งทุกโรคที่กล่าวมาสามารถทำให้ตาบอดได้
การป้องกันสายตาสั้น (Myopia Prevention)
ปัจจุบันด้วยวิทยาการที่ก้าวหน้าทำให้นักวิจัยค้นพบปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อการเกิดสายตาสั้น โดยบางปัจจัยเราไม่สามารถคุมได้เช่น พันธุกรรม แต่อีกหลายปัจจัยเราสามารถปรับเปลี่ยนได้ เช่น พฤติกรรมการใช้สายตา การออกกำลังกายกลางแจ้ง นอกจากนั้นในปัจจุบัน ได้มีการออกแบบเลนส์แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์เพื่อลดโอกาสการเริ่มเป็นสายตาสั้นได้ โดยมีงานวิจัยรองรับ
การรักษาสายตาสั้น (Myopic Refractive Surgery)
การผ่าตัดรักษาสายตาสั้นมีความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน ที่นิยมทำเช่น เลสิก (Lasik) , PRK, หรือ Relex(Smile) เนื่องจากทำให้สายตาสั้นหายถาวรโดยไม่ต้องใช้แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์สายตาอีกต่อไป อย่างไรก็ดี ผู้ที่จะผ่าตัดควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และสายตาสั้นคงที่แล้วอย่างน้อย 1 ปี ถ้าเข้าเกณฑ์ดังกล่าวก็สามารถนัดตรวจเพื่อประเมินและให้แพทย์แนะนำเทคนิคที่เหมาะกับท่านที่สุด
สรุปสั้นๆ ท่านอยู่ในกลุ่มใด และเหมาะกับอะไร
- สายตาสั้นแล้ว และยังสั้นเพิ่มขึ้นทุกปี–> แนะนำให้ ควบคุมสายตาสั้น
- สายตาสั้น แต่ไม่สั้นเพิ่มขึ้นแล้ว –> แนะนำให้ แก้ไขสายตาสั้น (ใส่ แว่นหรือคอนแทคเลนส์) หรือรักษาสายตาสั้น(ผ่าตัด ถ้าอายุเกิน 18 ปี และสายตาสั้นคงที่แล้วอย่างน้อย 1 ปี)
- สายตายังปกติ ไม่สั้น แต่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเช่น อายุยังไม่เกิน 18 ปี หรือมีการใช้สายตามาก–> แนะนำให้ ป้องกันสายตาสั้น