กระจกตาคืออะไร?(ATL004)

กระจกตาคืออะไร?(ATL004)

กระจกตาคืออะไร?

กระจกตา (Cornea) คือส่วนหนึ่งของดวงตา มีลักษณะโค้งและโปร่งใส คลุมอยู่ด้านหน้าสุดตรงบริเวณตาดำ ทำหน้าที่หักเหแสงที่เข้าสู่ดวงตา ถ้าความโค้งของกระจกตาเหมาะสม แสงที่เข้าสู่ดวงตาก็จะหักเหพอดีทำให้เรามองเห็นได้ชัดเจน แต่ถ้าความโค้งกระจกตาไม่เหมาะสม ก็จะทำให้เรามีปัญหาสายตาและมองเห็นไม่ชัดเจน

ภาพแสดงให้เห็นถึงแสงที่ตกสู่จอประสาทตาพอดีทำให้มองเห็นได้ชัดเจน

ที่มา : https://www.allaboutvision.com/conditions/emmetropia/

 

ในคนปกติกระจกตาจะมีความหนาประมาณ 520 ไมครอน ซึ่งกระจกตาแบ่งได้ทั้งหมด 5 ชั้นดังนี้

1. Epithelium เป็นชั้นที่อยู่ด้านนอกสุดโดยทั่วไปหากกระจกตามีรอยถลอก มักจะเป็นที่ชั้นนี้ ซึ่งจะสามารถหายเป็นปกติได้ภายใน 7 วัน

2. Basement membrane เป็นชั้นเนื้อเยื่อรองรับผิว

3. Stroma มีความหนามากที่สุดของกระจกตา เมื่อชั้นนี้เกิดความเสียหายจะทำให้กระจกตาเป็นแผล ดูเป็นสีขาวขุ่นไม่ใสเหมือนคนปกติ

4. Descemet’s membrane เป็นชั้นที่มีความยืดหยุ่นสูง

5. Endothelial cell เป็นชั้นที่อยู่ด้านในสุด ทำหน้าที่ดูดน้ำออกจากกระจกตาเพื่อป้องกันไม่ให้กระจกตาบวมน้ำ

นอกจากนี้โดยธรรมชาติกระจกตามักจะมีความโค้งในแนวตั้งและแนวนอนไม่เท่ากัน หากความแตกต่างของความโค้งทั้งสองแนวนี้ต่างกันมาก จะทำให้เกินค่าสายตาผิดปกติชนิดหนึ่งขึ้นมา นั่นก็คือสายตาเอียง (Astigmatism)

ที่มา : http://www.allaboutvision.com/resources/cornea.htm

กระจกตาบางคืออะไร?

กระจกตาบาง คือ ความหนาของกระจกตามีไม่ถึง 520 ไมครอน ซึ่งมักจะเกิดจากโรคกระจกตาโป่ง (Keratoconus) เพราะยิ่งกระจกตามีความนูนมาก ส่วนที่นูนออกมาก็จะยิ่งบางลง

ทำไมกระจกตาบางทำ LASIK ไม่ได้?

กระจกตาบางไม่สามารถทำ LASIK ได้ เพราะการทำ LASIK เป็นการผ่าตัดที่ทำให้กระจกตาบางลง สำหรับคนที่กระจกตาบางอยู่แล้ว การทำเลสิกจะทำให้กระจกตาบางลงไปอีก ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระจกตาย้วยหลังทำเลสิก (Post Lasik Corneal Ectasia) หรือกระจกตาขุ่นได้ นอกจากการทำเลสิกแล้ว การผ่าตัดแก้ไขสายตาอื่นๆที่มีการทำให้กระจกตาบางลง หรือมีความแข็งแรงน้อยลง ก็ไม่เหมาะกับคนกระจกตาบางเช่นเดียวกัน การผ่าตัดดังกล่าวเช่น PRK , Relex , RK , etc.

การแก้ไขสายตาสาหรับคนกระจกตาบาง

การแก้ไขสายตาสำหรับผู้ที่กระจกตาบาง สามารถทำได้หลายวิธีดังนี้

  1. การใส่แว่นสายตาเพื่อให้มองเห็นชัดขึ้น
  2. การใช้คอนแทคเลนส์นิ่มที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาด
  3. การใช้คอนแทคเลนส์นิ่มสั่งตัด (Soft custom contact lenses) คือคอนแทคเลนส์นิ่มที่ถูกสั่งตัดพิเศษให้เฉพาะบุคคลนั้นๆเพียงคนเดียว ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีค่าสายตาเยอะมากและไม่สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด หรือมีขนาดของดวงตาที่ไม่พอดีกับเลนส์ที่มีขายทั่วไป
  4. Corneal RGP lens คือคอนแทคเลนส์ชนิดกึ่งแข็งกึ่งนิ่มที่มีขนาดเล็กกว่าตาดำ
  5. OK Lens (Orthokeratology lenses, Ortho-K Lens) เป็นคอนแทคเลนส์กึ่งแข็งกึ่งนิ่มชนิดพิเศษ ใส่เฉพาะตอนนอนเพื่อปรับความโค้งของกระจกตา ส่งผลให้หลังจากตื่นนอนและถอดคอนแทคเลนส์แล้ว สามารถมองเห็นได้ชัดโดยไม่ต้องใส่แว่น นอกจากนี้ยังช่วยชะลอหรือหยุดสายตาสั้นเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย
  6. Hybrid Lens เป็นคอนแทคเลนส์ที่บริเวณตรงกลางเป็นเลนส์กึ่งแข็งกึ่งนิ่ม และบริเวณขอบเลนส์เป็นเลนส์นิ่ม เพื่อให้ใส่แล้วสบายตาและได้ความคมชัด
  7. Scleral lens เป็นคอนแทคเลนส์กึ่งแข็งกึ่งนิ่มที่มีขนาดใหญ่กว่าตาดำ ช่วยในเรื่องตาแห้งจากการใส่คอนแทคเลนส์ กระจกตาย้วย (Keratoconus) และช่วยให้การมองเห็นชัดเจนขึ้น
  8. การผ่าตัด (Surgery) โดยการใส่เลนส์เสริม ICL (Implatable Contact Lens)

โดยการตรวจตาอย่างละเอียดและซักประวัติสอบถามถึงกิจกรรมและลักษณะการใช้สายตา จะทำให้สามารถแนะนำการแก้ไขที่เหมาะสมได้

แชร์ไปที่ :

บทความอื่นๆ

ติดต่อนัดหมาย