คอนแทคเลนส์คืออะไร…..???
*** คอนแทคเลนส์(Contact Lens) มาจากภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “เลนส์สัมผัส” โดยคอนแทคเลนส์คือเลนส์ชิ้นเล็กๆสำหรับใส่ติดกับดวงตา(แปะอยู่ที่กระจกตาหรือตาดำ) ต่างจากแว่นตาคือเลนส์แว่นตาจะใหญ่กว่าคอนแทคเลนส์และอยู่ห่างจากลูกตาออกมา วัตถุประสงค์ของการใส่คอนแทคเลนส์อาจมีหลากหลายเช่น การแก้ไขปัญหาสายตา(สั้น ยาว เอียง สูงอายุ) การรักษาโรค การใส่เพื่อความสวยงาม ฯลฯ คอนแทคเลนส์จึงนับเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตาแต่ไม่อยากใส่แว่นตา
คอนแทคเลนส์มีกี่ประเภท อะไรบ้าง…..???
การแบ่งประเภทของคอนแทคเลนส์ สามารถแบ่งได้หลากหลาย คล้ายกับการแบ่งจำแนกประเภทรถ ซึ่งเราอาจจำแนกจากชนิดของรถ(เช่น รถเก๋ง รถปิกอัพ รถสิบล้อ) จำแนกตามลักษณะการใช้งาน(รถส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทาง รถบรรทุก) หรือแบ่งตามจำนวนล้อ(รถสองล้อ รถสามล้อ รถสี่ล้อ รถหกล้อ รถสิบล้อ) ฯลฯ การแบ่งชนิดของคอนแทคเลนส์ เราสามารถแบ่งประเภทของคอนแทคเลนส์ได้หลากหลายโดยมีรายละเอียดดังนี้
แบ่งตามวัสดุที่ใช้ทำคอนแทคเลนส์ เช่น
- คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งทำด้วย PMMA เป็นคอนแทคเลนส์รุ่นแรกๆของโลก มีข้อเสียคือไม่ยอมให้อ๊อกซิเจนผ่าน ปัจจุบันเลิกใช้ไปแล้นเนื่องจากสามารถคิดค้นวัสดุทำคอนแทคเลนส์ชนิดแข็งที่ยอมให้อ๊อกซิเจนผ่านได้ดี
- คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งที่ยอมให้อ๊อกซิเจนผ่านได้ดี (Rigid Gas Permeable Contact Lens, RGP) คอนแทคเลนส์ชนิดนี้มีข้อเสียคือผู้ใส่รู้สึกระคายเคืองตามากกว่าการใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มในช่วงแรก แต่มีคุณสมบัติที่ดีกว่าคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มหลายอย่างคือ ยอมให้อ๊อกซิเจนผ่านได้ดี ความคมชัดในการมองเห็นดีกว่า ทำให้ตาแห้งน้อยกว่า สามารถแก้ไขปัญหากระจกตาบิดเบี้ยวได้ดีกว่า มีอายุการใช้งานที่นานกว่าและประหยัดกว่าในระยะยาว
- คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มไฮโดรเจล เป็นวัสดุที่ใช้ทำคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มส่วนใหญ่ในปัจจุบัน
- คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มวัสดุซิลิโคนไฮโดรเจล เป็นวัสดุใหม่ล่าสุดสำหรับคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม มีคุณสมบัติพิเศษคือยอมให้อ๊อกซิเจนผ่านสูงกว่า 97% ทำให้ดีต่อสุขภาพตามากกว่า คาดว่าในอนาคตคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มจะทำด้วยวัสดุชนิดนี้เป็นหลัก
แบ่งตามลักษณะการใช้งาน
- แบบใส่เฉพาะตอนตื่น และถอดก่อนนอน ผู้ใส่จะต้องถอดเลนส์ก่อนนอนเสมอ
- แบบใส่ต่อเนื่องนาน 6 วันโดยไม่ต้องถอด คอนแทคเลนส์มักต้องทำด้วยวัสดุซิลิโคนไฮโดรเจลเพื่อให้อ๊อกซิเจนผ่านเข้าสู่ดวงตาได้ดี อย่างไรก็ดี การใส่เลนส์นอนสามารถทำได้กับเลนส์บางรุ่นเท่านั้นและทำให้มีความเสี่ยงต่อดวงตาติดเชื้อสูงขึ้นกว่าการถอดเลนส์ก่อนนอนอย่างมาก
- แบบใส่ต่อเนื่องนาน 30 วันโดยไม่ต้องถอด คอนแทคเลนส์มักต้องทำด้วยวัสดุซิลิโคนไฮโดรเจลเพื่อให้อ๊อกซิเจนผ่านเข้าสู่ดวงตาได้ดี อย่างไรก็ดี การใส่เลนส์นอนสามารถทำได้กับเลนส์บางรุ่นเท่านั้นและทำให้มีความเสี่ยงต่อดวงตาติดเชื้อสูงขึ้นกว่าการถอดเลนส์ก่อนนอนอย่างมาก การใส่อย่างนี้ผู้ใส่ต้องมีการสังเกตดวงตาของตนเองอย่างใกล้ชิดและได้รับการตรวจตาโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอ
แบ่งตามอายุการใช้งาน
- อายุการใช้งาน 1 วัน ประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทำให้ผู้ใช้มีความสะดวกสบายเนื่องจากไม่ต้องทำความสะอาดเลนส์ และลดความเสี่ยงต่อตาติดเชื้อเนื่องจากได้ใส่เลนส์ใหม่ทุกวัน แต่เลนส์ชนิดนี้มีราคาแพงกว่าเลนส์ชนิดอื่นเมื่อเปรียบเทียบราคากันวันต่อวัน
- อายุการใช้งาน 2 สัปดาห์ถึง1 เดือน เป็นเลนส์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในปัจจุบันเนื่องจากราคาไม่แพง
- อายุการใช้งาน 3 เดือน ถึง 1 ปี เป็นคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มแบบขวด ปัจจุบันไม่ได้รับความนิยมและมีการผลิตน้อยลงเรื่อยๆ แต่จะมีค่าสายตาช่วงกว้างกว่าเลนส์แบบรายวันหรือรายเดือน
- อายุการใช้งาน 1 ปีขึ้นไป มักเป็นเลนส์ชนิดแข็ง มีอายุการใช้งานนาน 2-3 ปีหรือมากกว่านั้นทั้งนี้ขึ้นกับการดูแลและการเปลี่ยนแปลงสายตาของผู้ใส่ สามารถสั่งให้ผลิตตามค่าสายตาและความโค้งกระจกตาเฉพาะบุคคลได้
แบ่งตามวัตถุประสงค์การใช้งาน
- เพื่อแก้ไขปัญหาสายตา ทั้งปัญหาสายตาสั้น ยาว เอียง หรือปัญหาสายตายาวสูงอายุ
- เพื่อปรับความโค้งกระจกตา โดยใส่คอนแทคเลนส์ตอนนอน เมื่อตื่นขึ้นมาสามารถถอดเลนส์และมองเห็นได้ชัดเจนโดยไม่ต้องใส่แว่น เหมาะสำหรับอาชีพหรือกิจกรรมที่ไม่สะดวกที่จะใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ และไม่ต้องการทำเลสิก เช่น นักเรียนเตรียมทหาร นักกีฬารักบี้ นักผจญเพลิง นักว่ายน้ำ หรือสำหรับคนที่มีปัญหาตาแห้งเมื่อใส่คอนแทคเลนส์ นักบิน แอร์โฮสเตส พนักงานออฟฟิศฯลฯ
- เพื่อความสวยงาม เช่น คอนแทคเลนส์ตาโต เปลี่ยนสีตา หรือคอนแทคเลนส์เพื่อการแสดงละคร หรือผู้ที่มีรอยแผลเป็นที่กระจกตาหรือม่านตา ฯลฯ
- เพื่อรักษาโรคหรือความผิดปกติ เช่นแก้ไขโรคกระจกตาโป่งพอง กระจกตาบิดเบี้ยว หรือคอนแทคเลนส์ปิดกระจกตาเพื่อป้องกันการบาดเจ็บหลังจากการทำ PRK เปลี่ยนถ่ายกระจกตา หรือแผลที่กระจกตา ฯลฯ
แบ่งตามการออกแบบเลนส์ เช่น
- คอนแทคเลนส์แบบ Spheric สำหรับการใช้งานปกติ
- คอนแทคเลนส์แบบ Aspheric ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขความบิดเบือนของแสงด้านข้าง เหมาะสำหรับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์แล้วมีปัญหามองตอนกลางคืนไม่ค่อยชัด ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้มักมีขนาดของรูม่านตาค่อนข้างใหญ่เมื่ออยู่ในที่มึด
- คอนแทคเลนส์ชนิดกำลังสายตาเดียว สำหรับแก้ไขปัญหา สายตาสั้น ยาว เท่านั้น
- คอนแทคเลนส์แก้สายตาเอียง สำหรับแก้ไขปัญหาสายตาสั้นหรือสายตายาวที่มีสายตาเอียงร่วมด้วย ผู้ที่ต้องการใส่เลนส์สายตาเอียงควรได้รับการตรวจจากผู้เชี่ยวชาญเนื่องจากคอนแทคเลนส์มักจะหมุนเมื่อกระพริบตา ทำให้มองเห็นเดี๋ยวมัวเดี๋ยวชัด
- คอนแทคเลนส์ชนิดสองกำลังสายตาหรือหลายกำลังสายตาในชิ้นเดียว เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาสายตาสูงอายุที่อายุเกิน 40 ปีและไม่ต้องการใส่แว่นสายตา คอนแทคเลนส์ดังกล่าวสามารถทำให้เห็นได้ชัดเจนทั้งที่ระยะใกล้และระยะไกลโดยไม่ต้องใช้แว่นตา
จะเห็นว่าจริงๆแล้ว คอนแทคเลนส์มีมากมายหลายชนิดให้เราได้ใช้ ดังนั้นการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจะทำให้เราได้คอนแทคเลนส์ที่เหมาะสมกับสภาพดวงตาและลักษณะการใช้งานของเราโดยแท้จริงครับ
ทำไมคอนแทคเลนส์แต่ละชิ้นถึงมีอายุการใช้งานที่ไม่เท่ากัน……???
- อายุการใช้งานของคอนแทคเลนส์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่น
- วัสดุที่ใช้ทำคอนแทคเลนส์ ยิ่งวัสดุที่มีความแข็งแรงมาก ยิ่งทำให้คอนแทคเลนส์มีอายุการใช้งานนาน เช่นคอนแทคเลนส์ชนิดแข็งจะมีอายุการใช้งานนานกว่าคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม
- ความหนาของคอนแทคเลนส์ สำหรับวัสดุชนิดเดียวกันยิ่งคอนแทคเลนส์หนายิ่งมีอายุการใช้งานนานกว่า คอนแทคเลนส์ชนิดใช้วันเดียวทิ้งมักถูกผลิตให้บางกว่ารายเดือนเพื่อความสบายในการใส่
- การสะสมของสิ่งสกปรก คราบไขมัน โปรตีน โดยคอนแทคเลนส์ที่มีการสะสมของสิ่งสกปรกน้อยกว่า จะมีอายุการใช้งานที่นานกว่า ทั้งนี้การสะสมของสิ่งสกปรกยังขึ้นกับความเป็นรูพรุนและเนื้อวัสดุที่ใช้ทำคอนแทคเลนส์อีกด้วย
จะเห็นว่าคอนแทคเลนส์ที่มีอายุการใช้งานที่ต่างกัน ถูกออกแบบมาแตกต่างกัน ดังนั้นผู้ใช้จึงควรเปลี่ยนคอนแทคเลนส์อย่างสม่ำเสมอตามอายุการใช้งานที่ระบุครับ
จะซื้อคอนแทคเลนส์คู่ใหม่ จะต้องจดค่าอะไรไปบ้าง…..???
ถ้าจะให้ดีที่สุดแนะนำให้ลอกฟอยล์ที่ปิดคอนแทคเลนส์เก็บไว้ครับ ถ้านำเอาฟอยล์ไปที่ร้านจะทราบโดยทันทีว่าเป็นคอนแทคเลนส์รุ่นไหน ค่าสายตาอะไร และรายละเอียดมีอะไรบ้าง แต่ถ้าจะจดก็จด 1.ชื่อรุ่นเช่น Acuvue2 2.ค่าสายตา เช่น -3.25 +4.50 (จดเครื่องหมาย บวกหรือลบไปด้วยครับ) 3.ค่า B.C. เช่น 8.4 (ค่าความโค้งผิวเลนส์ด้านหลัง) เลนส์นิ่มทั่วไปถ้าได้ค่าตามนี้ก็ได้คอนแทคเลนส์ที่ถูกต้องแล้วครับ
คอนแทคเลนส์ที่วางขาย เป็นคอนแทคเลนส์ Free size ที่สามารถใส่ได้พอดีกับดวงตาของทุกคนหรือไม่….???
ไม่ครับ ไม่มีคอนแทคเลนส์ชิ้นไหนในโลกที่ Free size โดยขนาดของคอนแทคเลนส์จะระบุไว้สองอย่างคือ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง(เช่น “Dia 14.2 คือคอนแทคเลนส์ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 14.2 มิลลิเมตร) และความโค้งของผิวเลนส์ด้านหลัง(เช่น BC 8.4 คือรัศมีความโค้งของผิวเลนส์ด้านหลังเป็น 8.4 มิลลิเมตร) ดวงตาของแต่ละคนมีความโค้งของผิวกระจกตาไม่เท่ากัน และคอนแทคเลนส์แต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อก็มีการออกแบบค่าความโค้งของผิวเลนส์ด้านหลังไม่เท่ากันด้วย ผู้ที่สามารถบอกได้ว่าคอนแทคเลนส์รุ่นไหนเหมาะกับท่านหรือไม่คือนักทัศนมาตรหรือจักษุแพทย์ครับ การใส่คอนแทคเลนส์ที่ไม่เหมาะสมกับดวงตาอาจทำให้เกิดปัญหาระคายเคืองตาและติดเชื้อที่ดวงตาง่ายขึ้น